1. พื้นฐานเกี่ยวกับกระบวนการฉีดพลาสติก

    หน้า   1   2    
1.1 บทนำ
ผู้ที่จะเป็นช่างฉีดพลาสติกในโรงงานฉีดพลาสติกระดับอาชีพได้นั้นจะต้องหมั่นฝึกฝนอยู่ตลอดเวลาทั้งทางด้านการปฏิบัติ (การควบคุมและใช้เครื่องฉีดพลาสติก) และแนวคิด (ความรู้พื้นฐานเกี่ยวกับกระบวนการฉีดพลาสติกต่าง ๆ และการสร้างสรรค์ทางความคิด) โดยเฉพาะแนวคิด หรือความคิดจะเป็นสิ่งที่บอกได้ว่าบุคคลนั้นจะก้าวไปสู่ช่างฉีดมืออาชีพได้หรือไม่ เนื่องจากช่างฉีดมืออาชีพไม่จำเป็น ต้องใช้เครื่องฉีดพลาสติกได้ดีหรือใช้ได้อย่างคล่องแคล่ว แต่ต้องรู้จักวิเคราะห์และแก้ปัญหางานฉีดพลาสติกให้ได้อย่างยั่งยืน ตลอดจนสามารถอธิบายถึงสาเหตุของปัญหาได้เป็นอย่างดี ดังนั้นโรงงานพลาสติกเราจึงขอให้ช่างฉีดเข้าใจหลักการเกี่ยวกับการเปลี่ยนแปลงต่าง ๆ ของพลาสติกในกระบวนการฉีดให้ได้เสียก่อน

1.2 องค์ประกอบในการฉีดพลาสติก

ผู้เขียนเคยกล่าวว่า "จงปรับตั้งพารามิเตอร์ในการฉีดให้เหมาะสมเหมือนกับการดำเนินชีวิตด้วยความพอดี” คำกล่าวนี้โรงงานพลาสติกเราต้องการจะอธิบายถึงความเหมาะสมที่ควรเกิดกับพลาสติกในกระบวนการฉีด ซึ่งความเหมาะสมนั้น ควรมีองค์ประกอบหรือส่วนประกอบที่สำคัญในกระบวนการฉีดพลาสติก เพื่อให้ได้คุณภาพของชิ้นงานฉีดที่ดี อัตราการผลิตที่สูง และมีจำนวนของเสียน้อย องค์ประกอบที่สำคัญควรมีอยู่ 6 ส่วน (6M) ด้วยกัน คือ 1. Material (วัตถุดิบพลาสติก) 2. Mold (แม่พิมพ์ฉีดพลาสติก) 3. Machine (เครื่องฉีดพลาสติก) 4. Method (วิธีการหรือพารามิเตอร์ที่ปรับตั้ง การฉีด) 5. Man (ช่างฉีดหรือบุคลากร) 6. Management (การจัดการในการฉีดพลาสติก) และรายละเอียดของแต่ละ M เป็นดังนี้

1. วัตถุดิบพลาสติก (Material)

มีการเลือกชนิดและเกรดของพลาสติกได้อย่างถูกต้องเหมาะสมกับการใช้งานหรือไม่ เช่น อ่างผสมปูน ถังปูน ควรใช้เม็ด HDPE เพราะใช้งานหนักควรจะมีความเหนียวทนทาน ตะกร้าลำไย ตะกร้ามังคุด เก้าอี้พลาสติก ถาดเพาะกล้า ควรใช้เม็ดพลาสติก PP ส่วนตะกร้าหูเหล็กก็ใช้ HDPE มีการเตรียมวัตถุดิบพลาสติกได้เหมาะสมหรือไม่ เช่น ต้องทำการอบไล่ความชื้นออกจากเม็ดพลาสติกหรือไม่ ถ้ามีต้องใช้เวลาและอุณหภูมิในการอบไล่ความชื้นอย่างไร สีที่ใช้สารเติมแต่งต่าง ๆ จำเป็นต้องมีหรือไม่ การผสมเม็ดพลาสติกกับสีและสารเติมแต่งควรทำอย่างไรจึงจะเหมาะสมที่สุด ไม่ควรมองที่ราคาของวัตถุดิบเป็นหลัก แต่ควรมองว่าจำเป็นต้องใช้วัตถุดิบที่ประกอบด้วยอะไรบ้าง จึงจะเหมาะสมกับคุณภาพชิ้นงานฉีดที่ต้องการ สามารถผลิตชิ้นงานได้ปริมาณมาก ๆ โดยมีผลกระทบต่อการเกิดของเสียน้อยที่สุด และใช้พลังงานในการผลิตขั้นตอนต่าง ๆ น้อยที่สุด

2. แม่พิมพ์ฉีดพลาสติก (Mold)

มีการออกแบบอย่างเหมาะสมดีแล้วหรือยัง เช่น ลักษณะของแม่พิมพ์ต้องเป็นแบบ 2 แผ่น 3 แผ่น หรืออื่น ๆ จำนวนของคาวิตี้ (Cavity) ระบบการหล่อเย็นภายในแม่พิมพ์ ระบบคลายและปลดชิ้นงาน ตำแหน่งรอยประกบแม่พิมพ์ ขนาดของทางน้ำพลาสติกวิ่ง (Runner) และทางน้ำพลาสติกเข้า (Gate) ตำแหน่งของทางน้ำพลาสติกเข้า การระบายอากาศออกจากแม่พิมพ์ การเลือกใช้วัสดุโลหะที่ถูกต้องในการทำแม่พิมพ์ รวมถึงกระบวนการทางความร้อน (การชุบแข็ง) ที่ใช้ปรับปรุงคุณภาพของแม่พิมพ์ด้วย

3. เครื่องฉีดพลาสติก (Machine)

มีการเลือกขนาดของเครื่องฉีดพลาสติกได้ถูกต้องหรือไม่ เช่น ขนาดของแรงปิดแม่พิมพ์เพียงพอหรือไม่ ปริมาณเนื้อพลาสติกและแรงดันฉีดของเครื่องฉีดต้องเพียงพอต่อขนาดของชิ้นงานที่จะทำการฉีด ความเร็วในการทำงานของเครื่องฉีดสามารถทำ Cycle Time ได้ตามที่ต้องการ ความดันฉีด ความเร็วฉีด และความดันย้ำซึ่งมีอยู่หลายจังหวะให้เลือกใช้ได้อย่างเหมาะสมกับลักษณะของชิ้นงานที่ทำการฉีด เครื่องฉีดมีประสิทธิภาพดีและมีความสม่ำเสมอในระหว่างการทำงาน อายุการใช้งานเหมาะสม ค่าใช้จ่ายในการบำรุงรักษาและการซ่อมแซมไม่แพงและทำได้ง่าย มีบริการหลังการขายดี สุดท้ายคือราคาเครื่องฉีดพลาสติกต้องเหมาะสมกับมูลค่าการผลิตสินค้านั้น ๆ

4. วิธีการหรือพารามิเตอร์ที่ปรับตั้งการฉีดพลาสติก (Method)

จะเป็นการรวม 3M คือ Material (วัตถุดิบ พลาสติก), Mold (แม่พิมพ์ฉีด), Machine (เครื่องฉีด) มาใช้ประโยชน์ หรืออาจกล่าวได้ว่าเป็นการสั่งการและควบคุมเครื่องฉีดให้ทำหน้าที่ดูแลจัดการกับวัสดุพลาสติกอย่างถูกต้องและเหมาะสมในการหลอมเหลว การไหลเข้าแม่พิมพ์ และการเย็นตัวในแม่พิมพ์ ตลอดจนดูแลจัดการให้แม่พิมพ์พร้อมที่จะรับพลาสติกเข้าแม่พิมพ์ ให้พักตัวอยู่ในแม่พิมพ์และปล่อยออกจากแม่พิมพ์เมื่อถึงเวลาที่เหมาะสม (เมื่อพลาสติกเซ็ตตัวและเย็นตัวลงแล้ว) ซึ่งการสั่งการ การควบคุม การดูแลจัดการต่าง ๆ นี้จะต้องมีความเหมาะสมกันมากที่สุด เพื่อให้ได้ชิ้นงานที่มีคุณภาพดีที่สุด

5. ช่างฉีดพลาสติกหรือบุคลากร (Man)

ผู้ที่จะปรับตั้งพารามิเตอร์ต่าง ๆ ในการฉีดได้เป็นอย่างดีนั้นจะต้องมีความรอบรู้เกี่ยวกับวัสดุพลาสติกแม่พิมพ์ และเครื่องฉีดที่จะใช้ในการผลิตชิ้นงานพลาสติกเป็นอย่างดีเสียก่อน โดยเริ่มตั้งแต่ชนิดของพลาสติก อุณหภูมิพลาสติกเหลว ความหนาแน่น ความดันที่ต้องใช้คุณสมบัติการไหลตัวของพลาสติกเหลว ลักษณะของทางน้ำพลาสติกวิ่ง (Runner) และทางน้ำพลาสติกเข้า (Gate) ระยะและขนาดของช่องทางการไหล ระบบการหล่อเย็น การปลดชิ้นงาน ฟังก์ชันและปุ่มควบคุมการทำงานของเครื่องฉีด ตลอดจนประสิทธิภาพของเครื่องฉีด เช่น ตั้งความดันของเครื่องเอาไว้ 120 บาร์ (ไฮดรอลิก) แต่เครื่องทำได้จริง 100 บาร์ เป็นต้น ดังนั้นจะต้องตรวจสอบการทำงานของเครื่องฉีดก่อนเสมอ อย่าเชื่อตัวเลขที่เราป้อนหรือตั้งที่ตัวเครื่องฉีด ต้องสังเกตดูสิ่งที่เกิดขึ้นจริงกับพลาสติกในระหว่างที่เครื่องฉีดทำงานอยู่ หรืออาจกล่าวได้ว่าผู้ปรับตั้งเครื่องฉีดต้อง รู้จักพารามิเตอร์ 5 ตัวหลัก ๆ ที่ต้องสั่งผ่านตัวเครื่องฉีดเพื่อควบคุมพลาสติก คือ อุณหภูมิ ความดัน ความเร็ว ระยะทาง และเวลา นอกจากนี้ยังต้องรู้จักลักษณะของปัญหาแบบต่าง ๆ สามารถวิเคราะห์เพื่อหาต้นเหตุของปัญหาได้มีแนวทางและเลือกแนวทางในการแก้ไขปัญหาได้อย่างถูกต้องเหมาะสม มีความรอบคอบ และผู้ปรับตั้งพารามิเตอร์ให้กับเครื่องฉีดจะต้องมีความสามารถด้านการคำนวณอยู่บ้างด้วย

6. การจัดการในการฉีดพลาสติก (Management)

หมายถึง การวางแผนการผลิตอย่างเหมาะสม เช่น การวางแผนในการฉีดตามลำดับของชนิดของพลาสติกเช่นพลาสติกใหม่ กับ พลาสติกรีไซเคิล ลักษณะและความเข้มของสี รูปร่างและขนาดของชิ้นงาน ลักษณะและขนาดของแม่พิมพ์ การสั่งซื้อ ความสำคัญของลูกค้า เป็นต้น เนื่องจากการวางแผนในการฉีดจะมีผลต่อการสูญเสียเป็นสำคัญ เพราะถ้าการวางแผนในการฉีดไม่เหมาะสม เช่น การฉีดชิ้นงานที่มีสีเข้มก่อนแล้วตามด้วย การฉีดชิ้นงานที่มีสีอ่อนหรือสีใส ย่อมเกิดการสูญเสียทั้งเวลาและวัสดุพลาสติกเป็นจำนวนมาก ตลอดจนอาจจะก่อให้เกิดปัญหาสีของชิ้นงานผิดเพี้ยนไม่ตรงกับความต้องการ โดยจะมีสีเดิมซึ่งเข้มกว่าและล้างทำความสะอาดออกได้ยากติดออกมาอยู่เรื่อย ๆ

1.3 ขั้นตอนพื้นฐานในการฉีดพลาสติก

การทำงานของเครื่องฉีดพลาสติกจะมีการทำงานอยู่ด้วยกันทั้งหมด 3 รูปแบบ คือ แบบไม่เป็นอัตโนมัติ (Manual) ซึ่งจะสั่งให้เครื่องทำงานในขั้นตอนใดก่อนหลังก็ได้ตามที่ต้องการแบบกึ่งอัตโนมัติ (Semi–Automatic) ซึ่งการทำงานจะเป็นไปตามขั้นตอนของเครื่องฉีดเพียงวงรอบการทำงานเดียวเท่านั้นแล้วหยุด และแบบอัตโนมัติทั้งหมด (Fully–Automatic) จะมีการทำงานเป็นไปตามขั้นตอนของเครื่องฉีด โดยเมื่อครบวงรอบการทำงานของเครื่องฉีดแล้ว ก็จะเริ่มวงรอบการทำงานใหม่ทันที และทำต่อไปเรื่อย ๆ อย่างต่อเนื่อง โดยการทำงานแบบกึ่งอัตโนมัติและแบบอัตโนมัติทั้งหมดจะมีขั้นตอนพื้นฐานในการฉีดพลาสติกประกอบไปด้วย 9 ขั้นตอน คือ
1. ขั้นตอนแม่พิมพ์เคลื่อนที่เข้าปิด โดยจะมีพารามิเตอร์คือ ความดัน (แรง) ความเร็ว และระยะทางในการเคลื่อนที่ปิดเข้าหากันของแม่พิมพ์ ซึ่งส่วนมากจะแบ่งออกได้เป็น 5 ช่วงด้วยกัน คือ ช่วงแรกเป็นช่วงที่แม่พิมพ์ด้านเคลื่อนที่เริ่มเคลื่อนที่เข้าไปหาแม่พิมพ์ด้านอยู่กับที่ โดยใช้ความเร็วที่ข้าเป็นระยะทางสั้น ๆ ช่วงที่สอง เป็นช่วงแม่พิมพ์เคลื่อนที่ด้วยความเร็วที่สูงขึ้นเป็นระยะทางยาว ๆ ช่วงที่สามเป็นช่วงที่แม่พิมพ์กำลังลดความเร็วลง ในระยะทางที่เหลือไม่มากนัก ช่วงที่สี่เป็นช่วงป้องกันแม่พิมพ์เกิดความเสียหายก่อนที่แม่พิมพ์จะปิดสนิท และช่วงที่ห้าเป็นช่วงที่แม่พิมพ์ปิดสนิทหรือเรียกว่า ช่วงปิดล็อกแม่พิมพ์ ด้วยความดันหรือแรงที่สูงมาก
2. ขั้นตอนชุดฉีดหรือหัวฉีดเคลื่อนที่เข้าชนและแนบกับแม่พิมพ์ โดยจะมีพารามิเตอร์ คือ ความดัน (แรง) และความเร็ว
3. ขั้นตอนสกรูเคลื่อนที่ตามแนวแกนโดยไม่มีการหมุน เพื่อขับดันพลาสติกเหลวที่อยู่ในกระบอกฉีด ให้ไหลออกจากหัวฉีดเข้าไปให้เต็มแม่พิมพ์ซึ่งเรียกว่า จังหวะฉีด (Injection Phase) โดยจะประกอบไปด้วย พารามิเตอร์หลัก ๆ คือ ความเร็วฉีด ความดันฉีด ระยะทางการฉีด เวลาในการฉีด แต่ผู้ผลิตเครื่องฉีดพลาสติก บางบริษัทได้ออกแบบให้สกรูสามารถเคลื่อนที่ตามแนวแกนพร้อมกับหมุนไปได้ด้วย เพื่อป้อนพลาสติกไปพร้อมกับ การฉีด ทำให้สามารถฉีดชิ้นงานที่มีปริมาตรและน้ำหนักมากกว่าปกติได้
4. ขั้นตอนสกรูเคลื่อนที่ตามแนวแกนโดยไม่มีการหมุน เพื่อขับดันพลาสติกเหลวเข้าไปในแม่พิมพ์เพิ่มเติมหลังจากที่พลาสติกเหลวเต็มในแม่พิมพ์แล้ว ทั้งนี้เพื่อย้ำรักษาความดันให้พลาสติกในแม่พิมพ์มีความหนาแน่น ตามที่ต้องการที่เรียกว่า ช่วงการย้ำ (Holding Phase) ชิ้นงานจะได้มีขนาดที่เที่ยงตรง มีความแข็งแรง โดยจะประกอบไปด้วยพารามิเตอร์หลัก ๆ คือ ความดัน เวลา และความเร็ว (สำหรับเครื่องฉีดพลาสติกบางรุ่นหรือบางยี่ห้อ)
5. ขั้นตอนที่สกรูเริ่มหมุนเพื่อดึงเม็ดพลาสติกในกรวยเติมเม็ดพลาสติก พร้อมทั้งป้อนไปข้างหน้าของสกรูเพื่อทำการหลอมผสมและป้อนพลาสติกเหลวไปอยู่หน้าปลายสกรูฉีด ซึ่งเรียกว่า จังหวะ Plasticizing โดยจะมีพารามิเตอร์ คือ ความดัน (แรง) ความเร็ว ระยะทาง โดยจังหวะการทำงานนี้จะเป็นตัวกำหนดปริมาณเนื้อพลาสติก เหลวหรือระยะถอยสกรู (ระยะตั้งเนื้อพลาสติก) ตามที่ต้องการ เนื่องจากเวลาที่สั่งให้สกรูหมุนนั้น พลาสติกเหลวที่อยู่หน้าปลายสกรูจะเกิดแรงดันจนทำให้สกรูถอยหลังกลับไปยังทิศทางของกรวยเติมเม็ดพลาสติกได้ และในขั้นตอนนี้จะมีการใช้แรงดันในการต้านการถอยหลังกลับของสกรูเพื่อควบคุมความหนาแน่นของพลาสติกเหลวที่อยู่ หน้าปลาย สกรูฉีดให้มีค่าคงที่ที่เรียกว่า Back Pressure ตลอดจนมีการกระตุกสกรูให้เคลื่อนที่ตามแนวแกนเท่านั้น ในช่วงก่อนเริ่มต้นหมุนสกรูและ/หรือเมื่อสกรูหยุดหมุนแล้วที่เรียกว่า Suck Back หรือ Pull Back หรือ Decompression
6. ขั้นตอนการหล่อเย็นพลาสติกที่อยู่ในแม่พิมพ์ให้เปลี่ยนจากพลาสติกเหลวเป็นของแข็ง โดยจะทำงานพร้อมกับการเริ่มหมุนสกรูเพื่อหลอมและป้อนพลาสติกเหลวไปหน้าปลายสกรูฉีดในขั้นตอนที่ 5 โดยขั้นตอนที่ 5 และ 6 นี้ จะเริ่มทำงานพร้อมกันเมื่อสินสุดเวลาในการย้ำรักษาความดันแล้ว
7. ขั้นตอนชุดฉีดหรือหัวฉีดเคลื่อนที่ถอยออกจากแม่พิมพ์ จะทำงานเมื่อสกรูหยุดการเคลื่อนที่แล้ว กล่าวคือหยุดหมุนและหยุดถอยแล้ว โดยจะมีพารามิเตอร์ คือ ความดัน (แรง) และความเร็ว
8. ขั้นตอนแม่พิมพ์เคลื่อนที่เป็ดเมื่อเวลาในการหล่อเย็นจากขั้นตอนที่ 6 นั้นหมดลงแล้ว โดยจะมีพารามิเตอร์คือ ความดัน (แรง) ความเร็ว และระยะทาง ความเร็วและระยะทางในการเปิดแม่พิมพ์ส่วนมากจะมีอยู่ 3 ความเร็วและ 3 ระยะทางด้วยกัน โดยความเร็วแรกเป็นช่วงที่แม่พิมพ์เริ่มเคลื่อนที่แยกออกจากกัน ควรใช้ความเร็วที่ช้า ๆ และเป็นระยะทางสั้น ๆ ให้ชิ้นงานฉีดสามารถขยับตัวเคลื่อนที่ออกจากแม่พิมพ์ด้านอยู่ทับที่และติดออกมากับแม่พิมพ์ด้านเคลื่อนที่ได้ หลังจากนั้นจึงใช้ความเร็วจังหวะที่สองให้เร็วขึ้นและเป็นระยะหางที่ยาวขึ้นด้วย ความเร็วในช่วงที่สามซึ่งเป็นช่วงสุดท้ายก่อนจะถึงตำแหน่งที่แม่พิมพ์เปิดมากที่สุด ควรใช้ความเร็วที่ช้าลงและระยะทางสั้น ๆ เพื่อให้แม่พิมพ์สามารถหยุดได้ตรงตามตำแหน่งโดยไม่เกิดการสั่นสะเทือน ส่วนระยะในการเปิดแม่พิมพ์ ก็ไม่ควรตั้งกว้างมากเกินไป แค่พอให้ชิ้นงานไม่ติดค้างอยู่ที่หน้าแม่พิมพ์หลังจากทำการกระทุ้งแล้ว หรือสามารถใช้ มือหรือแขนกลจับออกมาได้ก็เพียงพอแล้ว
9. ขั้นตอนการกระทุ้งชิ้นงานให้หลุดออกจากแม่พิมพ์ โดยจะมีพารามิเตอร์ของความเร็ว ความดัน ระยะทาง และจำนวนครั้งในการกระทุ้ง
หมายเหตุ ขั้นตอนที่ 2 และ 7 ซึ่งเป็นขั้นตอนในการเคลื่อนที่ของชุดฉีดเข้าหาและเคลื่อนที่ออกจากแม่พิมพ์นั้น อาจจะไม่ต้องใช้ในการทำงานจริง เพื่อเป็นการลดขั้นตอนและเวลาในการผลิต แต่จะมีทั้งข้อดีและข้อเสียอยู่บ้าง โดยจะขอกส่าวถึงในบทต่อไป

1.4 การเรียกขนาดของเครื่องฉีดพลาสติกและการเลือกขนาดสกรูฉีด

ตามที่เราทราบกันดีอยู่แล้วว่าการเรียกขนาดของเครื่องฉีดพลาสติกนั้น สามารถเรียกได้อยู่ 2 แบบ คือ เรียกตามขนาดของแรงปิดแม่พิมพ์สูงสุด (Max Clamping Force) เป็นต้น (tons) หรือกิโลนิวตัน (kN) และเรียกตามน้ำหนักของพลาสติกที่สามารถฉีดได้สูงสุดเป็นกรัมหรือออนซ์ซึ่งเทียบกับพลาสติก PS โดยขึ้นอยู่กับขนาดความโตของสกรูฉีดด้วย ซึ่งเครื่องฉีดแต่ละเครื่อง โดยทั่วไปจะมีสกรูให้เลือกอยู่ 3 ขนาดด้วยกัน คือ ขนาดเล็ก ขนาดกลาง และขนาดใหญ่ เครื่องฉีดที่มีขนาดแรงปิดแม่พิมพ์เท่ากันแต่ยี่ห้อต่างกันอาจจะมีขนาดของสกรูขนาดเล็ก ขนาดกลาง และขนาดใหญ่นั้นแตกต่างกันได้ สกรูขนาดเล็กจะได้ปริมาณพลาสติกเหลวในกระบอกฉีดน้อยที่สุด แต่ได้ความดันในการฉีดที่หัวฉีดมากที่สุด สกรูที่ติดมากับตัวเครื่องฉีดส่วนใหญ่จะเป็นสกรูขนาดกลาง ดังนั้น ผู้ที่ทำการเลือกขนาดของสกรูฉีดจะต้องดูความต้องการของตนเองว่าต้องการฉีดชิ้นงานลักษณะใด เช่น ถ้าต้องการ ฉีดชิ้นงานที่ความหนาแน่นมาก ๆ ขนาดมีความเที่ยงตรงสูง และมีน้ำหนักไม่มาก ก็ควรเลือกใช้สกรูขนาดเล็ก และถ้าต้องการฉีดชิ้นงานที่มีน้ำหนักมาก ๆ มีความหนาแน่นน้อย ๆ ไม่ต้องการความเที่ยงตรงของขนาด ก็ควรเลือกใช้สกรูขนาดใหญ่ แต่ถ้าต้องการฉีดชิ้นงานที่มีน้ำหนักมาก ๆ มีความหนาแน่นมาก ๆ มีความเที่ยงตรงของขนาดสูง ๆ ก็ควรเลือกใช้สกรูขนาดเล็กแต่เป็นเครื่องฉีดที่มีขนาดแรงปิดแม่พิมพ์ที่สูงขึ้น

1.5 การเลือกขนาดของเครื่องฉีดพลาสติก

การเลือกขนาดของเครื่องฉีดให้เหมาะสมกับการทำงานและลักษณะของชิ้นงานที่ต้องการฉีดนั้น ผู้เขียนมีข้อแนะนำถึงวิธีและขั้นตอนในการพิจารณาดังต่อไปนี้
1. ดูน้ำหนักของพลาสติกที่เครื่องสามารถฉีดได้สูงสุด ตัวอย่างเช่น เครื่องฉีดขนาดแรงปิดแม่พิมพ์ 100 ตัน สกรูโต 30 มิลลิเมตร ระยะถอยสกรูได้มากสุด 125 มิลลิเมตร ปริมาตรช่องว่างในกระบอกที่อยู่หน้าปลายสกรูเมื่อสกรูถอยสุด คือ 88 cm3 ฉีด PS ได้น้ำหนักมากสุด 79 กรัม แต่ถ้าฉีด PP จะได้น้ำหนักมากสุด = (79 x 0.7)/0.9 = 614 กรัม (เมื่อให้ความหนาแน่นของพลาสติกเหลว PS = 0.9 g/cm3 และความหนาแน่น ของพลาสติกเหลว PP = 0.7 g/cm3) ดังนั้นการคำนวณหาน้ำหนักของพลาสติกแต่ละชนิดที่เครื่องฉีดแต่ละตัว สามารถฉีดได้สูงสุดจะต้องคำนึงถึงความหนาแน่นของพลาสติกเหลวชนิดนั้น ๆ ที่อุณหภูมิฉีดด้วย แต่ถ้าไม่ทราบค่าที่แน่นอนของความหนาแน่นพลาสติกเหลวที่แต่ละอุณหภูมิก็สามารถใช้ค่าโดยประมาณที่ใช้งานได้จริงด้งนี้
• ความหนาแน่นของพลาสติกเหลวประเภทอะมอร์ฟัสเทอร์มอพลาสติกจะมีค่าประมาณ 85% ของ ค่าความหนาแน่นของเม็ดพลาสติก เช่น เม็ด PS จะมีค่าความหนาแน่น 1.05 g/cm3 เมื่อเป็นพลาสติกหลอมเหลวที่อุณหภูมิฉีดทั่ว ๆ ไป (ประมาณ 200–220 oC) จะมีค่าความหนาแน่นเท่ากับ 0.85 x 1.05 = 0.89 g/cm3
• ความหนาแน่นของพลาสติกเหลวประเภทเซมิคริสตัลไลน์เทอร์มอพลาสติกจะมีค่าประมาณ 80% ของค่าความหนาแน่นของเม็ดพลาสติก เช่น เม็ด PP จะมีค่าความหนาแน่น 0.90 g/cm3 เมื่อเป็นพลาสติกหลอมเหลวที่อุณหภูมิฉีดทั่ว ๆ ไป (ประมาณ 200 oC) จะมีค่าความหนาแน่นเท่ากับ 0.8 x 0.900 = 0.72 g/cm3
2. ดูจากแรงปิดแม่พิมพ์สูงสุดของเครื่องฉีดว่ามีค่ามากพอกับแรงที่ต้องใซในการปิดแม่พิมพ์ของชิ้นงานที่จะฉีดหรือไม่ เนื่องจากชิ้นงานที่มีรูปร่างแตกต่างกันแม้ว่าจะมีน้ำหนักที่เท่ากันก็ตาม แต่แรงในการปิดแม่พิมพ์จะไม่เท่ากัน เช่น ถังกับกะละมัง แม้ว่าจะมีน้ำหนักเท่ากัน แต่ถังมีพื้นที่ภาพฉายน้อยกว่ากะละมัง ดังนั้นแรงดันที่เกิดขึ้นในแม่พิมพ์ที่จะทำให้แม่พิมพ์เผยอออกจากกันนั้นจึงมีน้อยกว่า ด้วยเหตุนี้การฉีดถังจึงสามารถใช้แรงปิดแม่พิมพ์น้อยกว่าได้
3. ดูว่าแม่พิมพ์สามารถลงไปในช่องว่างระหว่างเสา Tie Bar และยึดติดเข้ากับหน้าปากกา (แผ่นยึดแม่พิมพ์ของเครื่องฉีด) ได้หรือไม่ โดยการวัดขนาดความกว้างสูงสุดของแม่พิมพ์เทียบกับระยะห่าง Tie Bar ดูก่อน พร้อมทั้งดูว่าโมลด์เบสของแม่พิมพ์ไปปิดรูเกลียวที่หน้าปากกาหรือไม่ ก่อนที่จะยกแม่พิมพ์ขึ้นเครื่องฉีดเพื่อไม่ให้เกิดข้อผิดพลาดและเลียเวลาการทำงาน
4. ดูว่าระยะเคลื่อนที่เข้า–ออกของหน้าปากกาเพียงพอหรือไม่ ถ้าระยะปิดไม่พอ เช่น ปิดเข้าสุดแล้วมีช่องว่างระหว่างหน้าปากกา 250 มิลลิเมตร แต่แม่พิมพ์มีความสูง (ความหนา) เพียง 230 มิลลิเมตร ก็ต้องเสริมแม่พิมพ์ให้มีขนาดตั้งแต่ 251 มิลลิเมตรขึ้นไป (ไม่ควรเสริมแค่มีขนาด 250 มิลลิเมตร เท่ากับระยะห่างหน้าปากกาพอดี เพราะระบบไฮดรอลิกของการปิดแม่พิมพ์จะไม่มีแรง) โดยเฉพาะระยะเปิดแม่พิมพ์ต้องกว้างพอที่ชิ้นงานจะถูกกระทุ้งให้หล่นหรือใช้แขนกลจับออกจากแม่พิมพ์ได้
สรุปขั้นตอนในการเลือกขนาดของเครื่องฉีดพลาสติก คือต้องดูน้ำหนักของพลาสติกที่เครื่องสามารถฉีด ได้ก่อนว่าเพียงพอหรือไม่ ถ้าเพียงพอจึงดูแรงปิดแม่พิมพ์ที่เครื่องทำได้ แต่ถ้าเครื่องฉีดที่คิดจะเลือกนั้นสามารถฉีด น้ำหนักพลาสติกได้เพียงพอ แต่แรงปิดแม่พิมพ์ไม่พอ ก็ให้หาเครื่องที่ใหญ่ขึ้นที่มิแรงปิดแม่พิมพ์เพียงพอ โดยไม่ต้องดูน้ำหนักของพลาสติกที่สามารถฉีดได้อีก เพราะเมื่อเครื่องฉีดขนาดใหญ่ขึ้นสกรูก็จะใหญ่ขึ้นตาม ดังนั้นน้ำหนัก พลาสติกที่สามารถฉีดได้ก็จะมากขึ้นด้วย ถ้าน้ำหนักพลาสติกและแรงปิดแม่พิมพ์เพียงพอจึงค่อยดูต่อว่าแม่พิมพ์ลง เครื่องได้หรือติด Tie Bar หรือไม่ ถ้าติดก็ให้เลือกเครื่องที่มีระยะห่าง Tie Bar กว้างขึ้น แต่น้ำหนักพลาสติกและ แรงปิดแม่พิมพ์เท่าเดิมหรือเลือกขนาดเครื่องที่ใหญ่ขึ้นไปอีกเท่าที่แม่พิมพ์สามารถลงเครื่องได้ โดยไม่ต้องคำนึงถึง น้ำหนักพลาสติกและแรงปิดแม่พิมพ์ เพราะยังคงเพียงพอ ต่อจากนั้นให้ดูระยะเปิด–ปิดแม่พิมพ์ว่าเพียงพอหรือไม่เป็นขั้นตอนสุดท้าย
ข้อควรระวัง ควรปฏิบัติตามขั้นตอนในการเลือกขนาดของเครื่องฉีดอย่างเคร่งครัดและไม่ควรข้ามขั้นตอน เพราะอาจจะเกิดข้อผิดพลาดได้
    หน้า   1   2    
CONTACT
169/47 ถ.พุทธมณฑลสาย 4 ต.กระทุ่มล้ม  อ.สามพราน จ.นครปฐม 73220
086-070-0007
ananindustry@gmail.com
https://www.ananindustry.com
WORKING DAYS/HOURS
วันจันทร์ - วันเสาร์
8.00 - 17.00 น.
Copyright © 2008 Anan Industry Company Limited. All Rights Reserved