บรรจุภัณฑ์อาหารคืออะไร มีกี่ประเภท แตกต่างกันอย่างไร

บรรจุภัณฑ์อาหารคืออะไร มีกี่ประเภท แตกต่างกันอย่างไร

ความหมายของการบรรจุและบรรจุภัณฑ์อาหาร

บรรจุภัณฑ์อาหาร (Food Packaging) มีความสัมพันธ์กับสังคมมนุษย์มาช้านาน คำว่า "ภาชนะบรรจุ" หรือ "บรรจุภัณฑ์" ภาษาอังกฤษใช้คำว่า "package" ใช้ร่วมกับ "การบรรจุ" หรือ "packaging" ในภาษาอังกฤษ ซึ่งหมายถึง วิธีในการจัดส่งสินค้าผลิตภัณฑ์ไปยังจุดหมายปลายทางอย่างปลอดภัยและคุ้มราคาสูงสุดหน้าที่ของการบรรจุขยายขอบเขตไปเรื่อยๆ ตามความต้องการของมนุษย์ที่เพิ่มขึ้นตามยุคสมัย เริ่มจากหน้าที่ในการรองรับและการปกป้อง ป้องกันผลิตภัณฑ์จากสภาวะอันตรายต่างๆ หน้าที่สำคัญอีกประการหนึ่งในการบรรจุผลิตภัณฑ์หลายประเภท โดยเฉพาะผลิตภัณฑ์อาหารก็คือ การเป็นส่วนหนึ่งของการแปรรูปอาหาร
บรรจุภัณฑ์กับกระบวนการแปรรูปอาหารมีความเกี่ยวข้องกันมาช้านาน การผลิตอาหารกระป๋อง อาหารในถุงรีทอร์ทเพาซ์ ที่รู้จักกันดีเมื่อเริ่มต้นเดิมทีใช้บรรจุภัณฑ์ประเภทแก้ว โดยหลักการถนอมอาหารก็คือ การฆ่าเชื้อจุลินทรีย์ที่ทำให้เกิดโรคแล้วทำให้อาหารเน่าเสีย โดยใช้ความร้อนสูงกว่าอุณหภูมิน้ำเดือด ซึ่งต้องใช้ความดันช่วย บรรจุภัณฑ์แก้วมีสมบัติตอบสนองความก้องการของการแปรรูปอาหารด้วยความร้อนนี้ คือ สามารถทนความร้อนและความดันระดับนี้ได้ และที่สำคัญสามารถปิดผนึก และในสภาวะปิดสนิทไม่ยอมให้อากาศเข้ามาได้ ทำให้เชื้อจุลินทรีย์ไม่สามารถเจริญเติบโตได้
แต่บรรจุภัณฑ์ประเภทแก้วก็มีข้อด้วยอยู่หลายประการ จึงได้มีการนำบรรจุภัณฑ์อื่นๆ มาใช้แทนแก้วในเวลาต่อมาข้อด้วยที่สำคัญของแก้ว คือ แตกง่ายและมีน้ำหนักมาก ทำให้ไม่สะดวกในการขนส่งย้ายและเกิดความเสียหายสูง กระบวนการผลิตอาหารจึงมาใช้กระป๋องและเป็นที่นิยมในเวลาต่อมาจนถึงปัจจุบัน
กระป๋องโลหะมีสมบัติเด่นที่สามารถทดแทนบรรจุภัณฑ์แก้วได้ในกระบวนการแปรรูปด้วยความร้อนคือสามารถทนความร้อนและความดันสูงและยอมให้อากาศผ่านได้น้อย แต่มีน้ำหนักเบากว่าแก้วและไม่แตก แต่บุบได้ทำให้เวลาต่อมาจึงเริ่มหันมีเทคโนโลยีบรรจุภัณฑ์ประเภทพลาสติกอ่อนตัวที่ทนความร้อนและแรงดันได้ หรือเรียกกันว่า "ถุงรีทอร์ท" (retort pouch) ที่ไม่แตก ไม่บุบ เสียหาย ทั้งยังมีน้ำหนักเบากว่ากระป๋องโลหะ และประหยัดเนื้อที่ในการขนส่งซึ่งหมายถึงประหยัดค่าใช้จ่ายได้อีกทางหนึ่ง
นอกจากหน้าที่การแปรรูปอาหารแล้ว การบรรจุยังมีหน้าที่ในการสื่อสาร คำว่าสื่อสารในที่นี้รวมทุกอย่างที่เกี่ยวข้องทั้งทางตรงและทางอ้อม ตั้งแต่การสื่อสารจากข้อมูลที่อยู่บนบรรจุภัณฑ์ รูปร่างลักษณะของตัวบรรจุภัณฑ์เอง รวมถึงสีและภาพที่ใช้บนบรรจุภัณฑ์ หน้าที่ของบรรจุภัณฑ์ในข้อนี้สามารถใช้ประโยชน์ได้หลายอย่าง โดยเฉพาะอย่างยิ่งในการส่งเสริมการขายผลิตภัณฑ์ จึงมีคนให้คำจำกัดความว่าบรรจุภัณฑ์เป็นผู้แทนขายแบบเงียบๆ (packaging is a silent salesman)
หน้าที่ของบรรจุภัณฑ์มีอีกหลายประการ แต่ที่สามารถจัดไว้ด้วยกันอีกกลุ่มก็คือ หน้าที่ในการใช้งาน ไม่ว่าจะเป็นความสะดวกในการเปิดและปิด สามารถปิดเปิดซ้ำได้ สามารถอุ่นได้ในเตาไมโครเวฟ เพิ่มความสะดวกในการบริโภค เป็นต้น ในปัจจุบันหน้าที่นี้ถือเป็นหน้าที่เด่นของการบรรจุหรือบรรจุภัณฑ์ที่ผู้ใช้หรือผู้บริโภคให้ความสำคัญอย่างมาก ซึ่งจะทำให้ผลิตภัณฑ์มีแต้มต่อเหนือคู่แข่งได้
จากหน้าที่กล่าวมาแล้วนั้นจะเห็นได้ว่าการบรรจุมีความสำคัญและเกี่ยวข้องสัมพันธ์กับผลิตภัณฑ์เกือบทุกประเภท นั่นหมายความว่าอุตสาหกรรมส่วนใหญ่ต้องพึ่งพาบรรจุภัณฑ์ โดยเฉพาะอุตสาหกรรมอาหาร ซึ่งถือว่าเป็นลูกค้าร้ายใหญ่สุดของอุตสาหกรรมการบรรจุ อุตสาหกรรมอาหารเป็นอุตสาหกรรมใหญ่ทั่วโลก มนุษย์เรายังคงแสวงหาผลิตภัณฑ์อาหารที่มีคุณภาพและความปลอดภัยสูง ซึ่งรวมถึงคุณภาพทุกด้าน ตั้งแต่ลักษณะปรากฏ สี กลิ่น รส เนื้อสัมผัส ผู้บริโภคยังเริ่มให้ความสำคัญกับคุณค่าทางโภชนาการและสารอาหารที่มีประโยชน์ต่อสุขภาพอีกด้วย ทั้งคุณภาพและความปลอดภัยนี้ล้วนเกี่ยวข้องกับการบรรจุ
บรรจุภัณฑ์มีส่วนในการช่วยรักษาคุณภาพของอาหารและมีความสัมพันธ์กับอายุการเก็บรักษาอาหารอย่างใกล้ชิด ปัจจัยแรกคือชนิดของวัสดุบรรจุ วัสดุที่ใช้ทำบรรจุภัณฑ์ที่สำคัญคือ แก้ว กระดาษ โลหะ และ พลาสติก วัสดุแต่ละชนิดมีข้อดีข้อด้วยแตกต่างกัน ดังที่ได้กล่าวถึงข้างต้นเกี่ยวกับหน้าที่ของบรรจุภัณฑ์ในการแปรรูปอาหาร ในระยะหลังจนถึงปัจจุบันการนำพลาสติกมาใช้แทนวัสดุบรรจุประเภทอื่นๆ มาก เนื่องจากจากจุดเด่นของพลาสติกก็คือมีสมบัติหลากหลาย สามารถเลือกใช้ได้ตามวัตถุประสงค์ที่ต้องการได้อย่างกว้างขวาง ซึ่งอาหารแต่ละชนิดมีความต้องการที่แตกต่างกันนอกจากนั้นยังมีน้ำหนักเบาใช้พลังงานในการผลิตต่ำ เมื่อเทียบกับการผลิตแก้วและโลหะ และเมื่อผลิตเป็นปริมาณมากๆ จะมีราคาถูก อย่างไรก็ตามในปัจจุบันปัญหาสิ่งแวดล้อมเป็นปัญหาสำคัญทั่วโลก การใช้พลาสติกที่ผลิตจากปิโตรเคมีมีแนวโน้มลดลง เริ่มมีการพัฒนาเทคโนโลยีและหันมาใช้พลาสติกที่ทำจากวัสดุธรรมชาติมากขึ้น

ความสำคัญของการบรรจุและบรรจุภัณฑ์ในอุตสาหกรรมอาหาร

ความสำคัญของการบรรจุและบรรจุภัณฑ์ในอุตสาหกรรมอาหาร
ก่อนที่ทราบว่าการบรรจุมีความสำคัญอย่างไร ต้องเข้าใจความหมายของการบรรจุและบรรจุภัณฑ์เสียก่อน
คำที่เกี่ยวข้องกับบรรจุภัณฑ์
การบรรจุ หรือ packaging หมายถึง
• ระบบในการเตรียมผลิตภัณฑ์เพื่อการขนส่ง เก็บรักษา และ จัดจำหน่าย
• วิธีการจัดส่งผลิตภัณฑ์ตามความต้องการของผู้บริโภคไปยังจุดหมายปลายทางอย่างปลอดภัยและคุ้มทุนที่สุด
บรรจุภัณฑ์ หรือ package หมายถึง
• สิ่งที่ใช้บรรจุผลิตภัณฑ์ในกระบวนการบรรจุ
จากความหมายของการบรรจุและบรรจุภัณฑ์จะเห็นได้ว่าผลิตภัณฑ์เกือบทุชนิดต้องการบรรจุไม่มากก็น้อย และจะไม่สามารถมาถึงผู้บริโภคได้เลย หากขาดการบรรจุและบรรจุภัณฑ์ โดยเฉพาะอย่างยิ่งผลิตภัณฑ์อาหาร การบรรจุและบรรจุภัณฑ์จึงมีความสำคัญอย่างยิ่งในการกระจายสินค้าเพื่อจัดส่งให้ถึงจุดหมายปลายทาง อย่างไรก็ตามผลิตภัณฑ์แต่ละชนิดอาจต้องการบรรจุภัณฑ์ที่แตกต่างกัน ซึ่งต้องมีการเลือกใช้ให้เหมาะสมกับความต้องการของผลิตภัณฑ์เป็นอันดับแรก และยังต้องคำนึงปัจจัยอื่นๆอีกเช่น สภาวะอันตรายที่ผลิตภัณฑ์ต้องเผชิญ ในกรณีของผลิตภัณฑ์อาหาร สภาวะแวดล้อมที่สำคัญได้แก่ อุณหภูมิ ความชื้น บรรยากาศ แรงกระทำทางกล เป็นต้น
อุตสาหกรรมอาหารเป็นตลาดใหญ่ที่สุดของการบรรจุ (ประมาณมากกว่า 60%) ซึ่งหน้าที่หลักของการบรรจุสำหรับผลิตภัณฑ์อาหาร คือการป้องกันการเสื่อมคุณภาพและการเสื่อมเสียของอาหาร การบรรจุช่วยรักษาผลิตภัณฑ์อาหารนั้นให้คงคุณภาพสูงสุดนานที่สุดเท่าที่จะเป็นไปได้ โดยการลดหรือจำกัดปัจจัยต่างๆ ที่ทำให้เกิดการเสื่อมเสีย เสื่อมคุณภาพของอาหารที่ต้องการรักษา บรรจุภัณฑ์ทำหน้าที่ปกป้องอาหารแบบพาสซีฟ (passive protection) คือ ทำหน้าที่เป็นตัวกั่น (barrier) ระหว่างผลิตภัณฑ์กับสภาวะแวดล้อมภายนอก
ในการขนส่งกระจายสินค้า อาจแบ่งการบรรจุตามลำดับชั้น (layer) ของการบรรจุ ได้ดังนี้
การบรรจุปฐมภูมิ (primary packaging) หมายถึง บรรจุภัณฑ์ชั้นแรกที่ติดอยู่กับผลิตภัณฑ์ เช่น ในการบรรจุภัณฑ์อาหารเช้าจากธัญพืช บรรจุภัณฑ์ในการบรรจุปฐมภูมิคือ ถุงพลาสติกหรืออลูมิเนียมฟอยล์
การบรรจุทุติยภูมิ (secondary packaging) หมายถึง การบรรจุชั้นที่ถัดจากการบรรจุปฐมภูมิ เป็นการรวมหน่วยบรรจุภัณฑ์ เช่น การบรรจุภัณฑ์อาหารเช้าจากธัญพืช บรรจุภัณฑ์ในการบรรจุทุติยภูมิคือ กล่องกระดาษแข็ง
การบรรจุจุตติยภูมิ (tertiary packaging) หมายถึง การบรรจุขั้นที่ถัดจากการบรรจุทุติยะภูมิ ส่วนใหญ่เป็นการบรรจุเพื่อการขนส่ง ในระบบบรรจุภัณฑ์อาหารเช้าจากธัญพืช บรรจุภัณฑ์ในการบรรจุจุตติยภูมิ คือ กล่องกระดาษลูกฟูก (corrugated fiberboard box) หรือ กล่องกระดาษแข็ง (solid board box) ที่ใช้ในการขนส่ง
การบรรจุจตุรภูมิ (quaternary package) หมายถึง การบรรจุชั้นที่ถัดจากบรรจุภัณฑ์ตติยภูมิ ส่วนใหญ่มักเป็นแท่นรองสินค้า (pallet) ที่มีบรรจุภัณฑ์เพื่อการขนส่งเรียงซ้อนกัน อาจมีฟิล์มยืด (stretch firm) รัดรอบกล่องทั้งหมดกับแท่นรองรับสินค้าให้รวมเป็นหน่วยเดียวกัน เพื่อความสะดวกในการขนส่งและการเคลื่อนย้าย

หน้าที่และประโยชน์ของบรรจุภัณฑ์อาหาร

หน้าที่ประโยชน์ของบรรจุภัณฑ์อาหารที่สำคัญ
การบรรจุทำหน้าที่หลายประการ โดยมีหน้าที่สำคัญ ดังนี้
1. บรรจุ (containment) การบรรจุทำหน้าที่ในการรองรับ บรรจุผลิตภัณฑ์
2. ปกป้องป้องกัน (protection/preservation) การบรรจุมีหน้าที่ปกป้องผลิตภัณฑ์จากความเสียหาย เสื่อมเสียต่างๆ จากสภาวะอันตรายต่างๆ ได้แก่ สภาวะอันตรายทางกล (เช่น แรงกดทับ แรงกระแทก แรงสั่นสะเทือน) สภาวะแวดล้อม (เช่น อุณหภูมิ ความชื้น ออกซิเจน) การปนเปื้อนปฏิกิริยาเคมี เป็นต้น
3. สื่อสาร (communication) การบรรจุทำหน้าที่ในการสื่อสาร ซึ่งหมายรวมถึง การระบุชนิดของผลิตภัณฑ์ภายใน การให้ข้อมูลต่างๆ ที่เกี่ยวกับผลิตภัณฑ์ เช่น วิธีการใช้ วันหมดอายุ แหล่งผลิต การแสดงตราสินค้า การสื่อสาร/ส่งเสริมการขาย เป็นต้น โดยอาจแสดงโดยรูปแบบของสีของบรรจุภัณฑ์ สี หรือ ฉลาก เป็นต้น
4. เป็นส่วนหนึ่งของการแปรรูปอาหาร (processing) การบรรจุหรือบรรจุภัณฑ์เป็นส่วนหนึ่งของกระบวนการแปรรูปเพื่อยืดอายุอาหาร (Self life) ซึ่งแต่ละกระบวนการต้องการการบรรจุหรือบรรจุภัณฑ์ที่แตกต่างกัน เช่น การสเตอริไลเซชั่น การพาสเจอร์ไรเซชั่น การบรรจุขณะร้อน การทำแห้ง การแช่แข็ง เป็นต้น
5. หน้าที่พิเศษอื่นๆ (special and use) การบรรจุทำหน้าที่อื่นๆ เพื่อการใช้งานหรือเพิ่มความสะดวกในการใช้งานต่างๆ เช่น สามารถอุ่นในเตาไมโครเวฟได้ (microwavable) สามารถเปิดและปิดซ้ำได้ สามารถเสิร์ฟได้ทันที เป็นต้น

ประเภทของบรรจุภัณฑ์อาหาร

ประเภทของบรรจุภัณฑ์อาหารแต่ละชนิดแตกต่างกันอย่างไร
วัสดุที่ใช้มากการบรรจุอาหาร คือ บรรจุภัณฑ์ที่ทำจากวัสดุ แก้ว กระดาษ โลหะ พลาสติก และไม้ "ภาชนะบรรจุ" เป็นวัตถุที่ใช้บรรจุอาหารไม่ว่าด้วยการใส่หรือห่อหรือวิธีใดวิธีหนึ่งและให้ความหมายรวมถึงฝาหรือจุกด้วย โดยวัสดุบรรจุแต่ละประเภท จะมีข้อดีข้อด้วยที่แตกต่างกัน เราไปดูกันว่าบรรจุภัณฑ์สำหรับอาหารมีกี่ประเภท อะไรบ้าง

บรรจุภัณฑ์อาหารประเภทแก้ว (Glass Packaging for Food)

บรรจุภัณฑ์อาหารจากแก้ว สามารถป้องกันความชื้นและอากาศได้ดี
บรรจุภัณฑ์อาหารจากแก้ว จะมีความสามารถป้องกันความชื้นและอากาศได้ดี นอกจากนั้นยัมีรูปลักษณ์ที่สวยงาม แตกต่างจากบรรจุภัณฑ์อาหารชนิดอื่นๆ ทำให้บ่อยครั้งถูกหยิบมาเพื่อเพิ่มมูลค่าให้กับอาหาร เพื่อถนอมอาหารชนิดนั้นๆ ซึ่งส่วนมากบรรจุภัณฑ์อาหารที่ทำจากแก้วจะถูกนำมาใช้สำหรับของเหลว เช่น น้ำดื่ม เกลือแร่ ซอสปรุงรส น้ำจิ้ม นำพริก เป็นต้น
แก้วมีสมบัติที่สำคัญ คือ
• มีความใส
• มีความแข็ง (rigid)
• ป้องกันการซึมผ่านของไอน้ำและแก๊สได้ดีมาก ถือเป็นวัสดุอุดมคติที่ไม่ยอมให้ไอน้ำและแก๊สต่างๆ ซึมผ่านได้ (impermeable)
• มีความเฉื่อยต่อการเกิดปฏิกิริยาเคมี (inert)
• สามารถนำกลับมาใช้ซ้ำ (reusable)
• สามารถนำกลับมาใช้ใหม่ (recyclable)

บรรจุภัณฑ์อาหารประเภทกระดาษ (Paper Packaging for Food)

บรรจุภัณฑ์อาหารจากกระดาษ บรรจุภัณฑ์รักโลกออกแบบได้หลากหลาย
บรรจุภัณฑ์อาหารจากกระดาษ นับเป็นบรรจุภัณฑ์รักโลก ที่ถูกออกแบบและผลิตมาเพื่อใช้ทดแทนบรรจุภัณฑ์อาหารจำพวกเดิม เหตุเพราะบรรจุภัณฑ์แบบเดิมๆ นั้นไม่มีความสามารถย่อยสลายได้ตามธรรมชาติ รวมไปถึงยังถูกนำไปรีไซเคิลได้ยากเป็นขยะที่สร้างมลพิษต่อสิ่งแวดล้อม
โดยบรรจุภัณฑ์อาหารจากกระดาษ มีความทนทานในระดับหนึ่งมีรูปแบบให้เลือกหลากหลายตามความต้องการของผู้บริโภคและการใช้งาน ทั้งยังสามารถพิมพ์ลวดลายต่างๆ หรือโลโก้ลงไปในบรรจุภัณฑ์เพื่อทำการตลาดเพิ่มมูลค่าให้กับผลิตภัณฑ์ แต่ข้อเสียคือไม่อาจถนอมอาหารได้เนื่องจากไม่สามารถกันความชื้นและแก๊สได้ ส่วนมากจะนำบรรจุภัณฑ์นี้มาห่อหุ้มบรรจุภัณฑ์อาหารประเภทอื่นๆ เพื่อความสวยงาม หรือ เพื่อสะดวกในการขนส่ง
กระดาษมีสมบัติที่สำคัญคือ
• สามารถขึ้นรูปเป็นบรรจุภัณฑ์ได้หลายรูปแบบ
• ใช้ร่วมกับวัสดุบรรจุได้สะดวก เช่น กระดาษเคลือบพลาสติก
• สามารถนำกลับมาใช้ใหม่ (recyclable)
• ยอมให้ไอน้ำและแก๊สซึมผ่านได้ดี
ถุงกระดาษ มีทั้งแบบแบนราบ (ใช้ใส่อาหารชิ้นเล็กๆ ที่มีน้ำหนักเบา) แบบมีขยายข้างและก้น (ใช้บรรจุสินค้าที่มีปริมาณมากๆ เช่น แป้ง คุกกี้ ข้าวสาร เป็นต้น) หรือใช้เป็นถุงในกล่องกระดาษแข็ง) บรรจุสินค้าประเภทเครื่องเทศ สินค้าที่มีน้ำหนักมากควรใช้กระดาษเหนียว หากสินค้ามีความชื้นสูงหรือเก็บในสภาวะเปียกชื้นควรใช้กระดาษที่มีค่าการดูดซึมน้ำต่ำๆ เช่น กระดาษเคลือบไข กระดาษเคลือบพลาสติก เป็นต้น
ถุงกระดาษหลายชั้น สำหรับการขนส่งสินค้าที่มีน้ำหนักมาก หรือสินค้าที่ต้องการการปกป้องเป็นพิเศษ หากต้องการเพิ่มคุณสมบัติในด้านป้องกันความชื้นก็อาจเคลือบด้วยพลาสติกหรืออลูมิเนียมฟอยต์
เยื่อกระดาษขึ้นรูป เยื่อกระดาษขึ้นรูปมีทั้งชนิดที่ทำจากเยื่อบริสุทธิ์ซึ่งใช้บรรจุอาหารสำเร็จรูปและอาหารที่ เข้าตู้อบไมโครเวฟได้ และชนิดที่ทำจากเยื่อกระดาษซึ่งใช้บรรจุ ไข่ ผัก ผลไม้สด และทำเป็นวัสดุกันกระแทกการเลือกใช้ต้องคำนึงถึงชนิดของผลิตภัณฑ์ที่จะบรรจุเป็นสำคัญ เพราะเกี่ยวข้องกับความปลอดภัยของผู้บริโภค

บรรจุภัณฑ์อาหารประเภทโลหะ (Metal Packaging for Food)

บรรจุภัณฑ์อาหารประเภทโลหะ มีความแข็งแรงมากที่สุดทนร้อนได้สูง
บรรจุภัณฑ์อาหารประเภทโลหะ มีความแข็งแรงมากที่สุด เพราะทำมาจากโลหะ โดยส่วนมากจะพบได้จากสินค้าจำพวกอาหารกระป๋อง หรือเครื่องดื่มกระป๋อง เหตุเพราะบรรจุภัณฑ์ชนิดนี้สามารถทนความร้อนได้สูงและและอากาศและความชื่นไม่สามารถผ่านได้จึงเหมาะกับกระบวนการแปรรูปด้วยความร้อนที่ใช้อุณหภูมิสูง ซึ่งจะทำผลิตภัณฑ์อาหารที่บรรจุในกระป๋องสามารถถนอมและเก็บรักษาอาหารได้เป็นเวลานานเหล็กเคลือบดีบุกสามารถป้องกันอากาศได้ดี ปิดผนึกได้สนิทและฆ่าเชื้อในกระบวนการผลิตด้วยความร้อนได้ดี อลูมิเนียมมีน้ำหนักเบา มักใช้เคลือบวัสดุอื่นๆ เคลือบกระดาษ เคลือบสังกะสี หรือขึ้นรูปเป็นกระป๋อง หรือขึ้นรูปเป็นถุงรีทอร์ทเพาซ์ (Retort Pouch)
โลหะมีสมบัติที่สำคัญคือ
• มีความแข็งแรงสูง
• ป้องกันการซึมผ่านของไอน้ำ แก๊ส และ แสงได้ดี
• ทนความร้อนและความเย็นได้ดี
• ขึ้นรูปได้ง่าย
• สามารถนำกลับมาใช้ใหม่ (recyclable)
• ไวต่อการเกิดปฏิกิรยา ในการบรรจุผลิตภัณฑ์จึงต้องมีการเคลือบที่เหมาะสม
โลหะที่ใช้ในการทำบรรจุภัณฑ์มีหลายชนิด เช่น เหล็กเคลือบดีบุก อลูมิเนียม เป็นต้น

บรรจุภัณฑ์ประเภทพลาสติก (Plastic Packaging for Food)

บรรจุภัณฑ์อาหารจากพลาสติกมีความยืดหยุ่นสามารถทำได้หลากหลายแบบ
บรรจุภัณฑ์อาหารจากพลาสติกรวมไปถึงบรรจุภัณฑ์อาหรจากโฟม เพราะโฟมก็ทำมาจากพลาสติกเช่นเดียวกัน บรรจุภัณฑ์อาหารประเภทพลาสติกมักพบเห็นได้บ่อยครั้งที่สุดและเป็นที่นิยมที่สุด เนื่องจากตัววัสดุภัณฑ์มีคุณสมบัติที่สามารถรองรับอาหารได้หลากหลายประเภททั้งชนิดอาหารร้อนและเย็น บวกกับคุณสมบัติป้องกันการซึมของอากาศและแก๊สได้ดี รวมทั้งมีรูปแบบให้เลือกที่หลากหลายเช่นเดียวกับกระดาษ รวมไปถึงมีราคาที่ถูกหาซื้อง่าย
แต่เนื่องจากตัวบรรจุภัณฑ์อาหารชนิดนี้ทำมาจากพลาสติก ทำให้ไม่สามารถย่อยสลายได้เองตามธรรมชาติ ซึ่งอาจก่อให้เกิดมลพิษต่อสิ่งแวดล้อมนั่นเอง ด้วยเหตุนี้ในปัจจุบันผู้ประกอบการโรงงานอุตสาหกรรมอาหารหรือธุรกิจร้านอาหารก็พยายามลดการใช้งานบรรจุภัณฑ์พลาสติกหรืออาจเปลี่ยนมาใช้เทคโนโลยีพลาสติกที่ทำจากไบโอพลาสติกเพื่อเป็นการลดมลพิษต่อสิ่งแวดล้อม
พลาสติกมีสมบัติที่สำคัญคือ
• น้ำหนักเบา
• ทนต่อการแตกหัก เสียหาย
• ขึ้นรูปได้ง่ายและหลากหลายลักษณะ
• มีสมบัติหลากหลาย ทำให้สามารถเลือกใช้ได้ตามวัตถุประสงค์ที่ต้องการ เช่น สี ความใส ความแข็งแรง ความยืดหยุ่น การป้องกัน
• สามารถนำกลับมาใช้ใหม่ (recyclable)
• ไวต่อการเกิดปฏิกิริยาในการบรรจุผลิตภัณฑ์จึงต้องมีการเคลือบที่เหมาะสม การป้องกันการซึมผ่านของไอน้ำและแก๊ส การปิดผนึกด้วยความร้อน การทนอุณหภูมิ เป็นต้น
• พลาสติกยังใช้แทนไม้และกระดาษในการขนส่งเช่น แท่นรองรับสินค้า ลังพลาสติก  กล่องพลาสติก ป้องกันความเสียหายในการขนส่ง

บรรจุภัณฑ์อาหารประเภทไม้ (Wood Packaging for Food)

บรรจุภัณฑ์ประเภทไม้ มักใช้เป็นบรรจุภัณฑ์หรืออุปกรณืซึ่งเป็นส่วนหนึ่งในการขนส่งสินค้า
บรรจุภัณฑ์ประเภทไม้ มักใช้เป็นบรรจุภัณฑ์หรืออุปกรณ์ซึ่งเป็นส่วนหนึ่งในการขนส่งสินค้า เช่น ลังไม้แบบโปร่ง กล่องไม้ ถังไม้ ไม้รองสินค้า วัสดุไม้กันกระแทก ลังไม้แบบทึบ ส่วนสำหรับบรรจุอาหารนั้นมีการใช้ไม่มากนัก ยกตัวอย่างเช่น ถังไม้ที่ใช้สำหรับหมักไวน์ เบียร์
ไม้มีสมบัติที่สำคัญคือ
• มีความแข็งแรง
• คงรูป
• นิยมขึ้นรูปเป็นบรรจุภัณฑ์ขนาดใหญ่ ใช้ในการขนส่ง เช่นแท่นรองรับสินค้า ลังไม้ กรอบไม้ ป้องกันความเสียหายในการขนส่ง เป็นต้น
• เสียหายได้เนื่องจากความชื้น แมลง และไฟ

วิธีการเลือกใช้บรรจุภัณฑ์อาหาร

การเลือกใช้บรรจุภัณฑ์อาหาร ต้องคำนึงถึงความเหมาะสมกับความต้องการของผลิตภัณฑ์ โดยขึ้นอยู่กับปัจจัยหลายประการได้แก่
วิธีการเลือกใช้บรรจุภัณฑ์อาหารให้้เหมาะสมกับอาหาร
• ลักษณะของผลิตภัณฑ์ เช่น ขนาด รูปร่าง น้ำหนัก ความหนาแน่น ความแข็งแรงของผลิตภัณฑ์ ระบุลักษณะของการเสื่อมเสียของอาหาร และสาเหตุที่ทำให้เกิดการเสื่อมเสียของอาหาร เช่น สิ่งแวดล้อมภายนอก จุลินทรีย์ ปฏิกิริยาเคมี เป็นต้น
• ความต้องการทางการตลาด ก่อนที่จะเลือกใช้บรรจุภัณฑ์ต้องศึกษาถึงความต้องการของกลุ่มลูกค้าเป้าหมาย เช่น รสนิยม พฤติกรรมการซื้อ ปริมาณการซื้อ วิธีการนำไปใช้ วิธีเก็บรักษา เพื่อที่จะได้บรรจุภัณฑ์ให้ตรงกับความต้องการของกลุ่มลูกค้าเป้าหมาย รวมทั้งต้องคำนึงถึงการโฆษณาและการส่งเสริมการขายของผลิตภัณฑ์อาหารนั้นๆ
• อันตรายจากการผลิต การกระจายสินค้า และระยะเวลาในการขนส่งผลิตภัณฑ์ รวมถึงระบุสภาวะ และระยะเวลาในการเก็บรักษาผลิตภัณฑ์ เช่น อุณหภูมิ และ ความชื้น เป็นต้น
• เครื่องจักรสำหรับบรรจุอาหาร ต้องคำนึงถึงลักษณะของผลิตภัณฑ์ สมบัติของวัสดุบรรจุ ราคา และความต้องการทางการตลาด
• วัสดุบรรจุ ต้องคำถึงลักษณะของผลิตภัณฑ์ สมบัติของวัสดุ ราคา เครื่องจักรที่ใช้บรรจุ และ ความต้องการของตลาด
• ข้อกำหนดทางด้านกฎหมาย (กฎหมายเกี่ยวกับวัสดุสัมผัสอาหาร)
สรุป
ภาชนะบรรจุอาหารเป็นส่วนหนึ่งในการช่วยรักษาคุณภาพของผลิตภัณฑ์ โดยเฉพาะผลิตภัณฑ์ประเภทผักผลไม้ และ เนื้อสัตว์ที่มีอายุการเก็บรักษาสั้น ทำให้เกิดการสูญเสียในระหว่างการขนส่งและการขายเป็นจำนวนมากซึ่งการเลือกใช้บรรจุภัณฑ์อาหารที่เหมาะสมกับผลิตภัณฑ์แต่ละชนิดนั้นจะสามารถช่วยยืดอายุการเก็บรักษาผลผลิตให้ยาวนานขึ้น ส่งผลให้ผลผลิตถึงมือผู้บริโภคในสภาพที่ดี ช่วยลดความสูญเสียที่อาจเกิดขึ้น สามารถขายสิน้าได้ในราคาสูง
CONTACT
169/47 ถ.พุทธมณฑลสาย 4 ต.กระทุ่มล้ม  อ.สามพราน จ.นครปฐม 73220
086-070-0007
ananindustry@gmail.com
https://www.ananindustry.com
WORKING DAYS/HOURS
วันจันทร์ - วันเสาร์
8.00 - 17.00 น.
Copyright © 2008 Anan Industry Company Limited. All Rights Reserved