ถ้วยหรือถาดสำหรับอาหารพร้อมรับประทานที่ใช้กับไมโครเวฟ
ผลิตจากพลาสติกชั้นเดียวเช่น PE พอลิเอทิลีนความหนาแน่นสูง (High Density Polyethylene, HDPE) ซึ่งสามารถใช้กับอาหารที่มีไขมันสูง อาหารแช่แข็ง อาหารที่อุ่นแล้วเกิดไอน้ำ และอาหารที่มีจุดสะสมความร้อน แต่สามารถทนอุณหภูมิได้สูงสุดประมาณ 90 องศาเซลเซียส พอลิโพรพิลีน (Polypropylene, PP) ประกบร่วมกับ คริสตัลไลน์ พอลิเอทิลีนเทเรฟทาเลต (Crystallized Polyethylene Terephthalate, CPET) สามารถบรรจุร้อนและใช้กับไมโครเวฟได้แต่มีราคาสูง นอกจากนี้ยังผลิตมาจากการอัดรีด (Coextrusion) พลาสติกหลายขั้น เช่น PP/EVOH/PP สามารถใช้กับไมโครเวฟได้ป้องกันการซึมผ่านของก๊าซออกซิเจนได้ดี แต่ไม่สามารถใช้บรรจุอาหารร้อนได้และมีราคาสูง นอกจากนี้ ยังมีกลุ่มพลาสติกที่สามารถใช้ซ้ำได้ แต่ราคาแพง ได้แก่
1. พอลิอีเทอร์อิไมด์ (Polyetherimide. PEI)
1. พอลิอีเทอร์อิไมด์ (Polyetherimide. PEI) มีชื่อทางการค้าว่า Ultem (General Electric Plastic) ทนอุณหภูมิสูงประมาณ 170 องศาเซลเซียส ทนการกัดกร่อนจากสารเคมีได้ดี เข้าเครื่องล้างจานได้ ใช้เป็นภาชนะในสายการบินและโรงพยาบาล
2. พอลิคาร์บอเนต (Polycarbonate, PC)
พอลิคาร์บอเนต (Polycarbonate, PC) ซึ่งทนอุณหภูมิสูงประมาณ 200 องศาเซลเซียส เหนียว ทนทาน มักใช้ผลิตเป็นภาชนะที่ใช้ซ้ำได้
สำหรับฝาที่ใช้ปิดถ้วยหรือถาดนั้นอาจจะอยู่ในรูปของฟิล์มหรือฝาครอบจากวัสดุคอมโพสิต เช่น PET/CPP, OPP/CPP, PET/PE/EVA และฝาครอบจากพอลิสไตรีน (Polystyrene, PS) เป็นต้น แต่เนื่องจาก PS ทนอุณหภูมิได้ไม่เกิน 80 องศาเซลเซียส จึงมีการนำผสมกับพอลิฟีนิลีนออกไซด์ (Polyphenylene oxide, PPO) เพื่อให้ทนอุณหภูมิได้สูงขึ้นประมาณ 100 องศาเซลเซียส
ทั้งนี้การเลือกใช้ชนิดวัสดุสำหรับบรรจุฝาครอบสำหรับบรรจุภัณฑ์อาหารพร้อมรับประทานที่ใช้กับไมโครเวฟขึ้นกับ
• ชนิดของผลิตภัณฑ์
• กระบวนการบรรจุ
• อายุการเก็บของสินค้า
• อุณหภูมิการใช้งานของผลิตภัณฑ์รวมบรรจุภัณฑ์ ตั้งแต่บรรจุไปจนถึงอุ่นร้อนด้วยไมโครเวฟ
หากฝาที่ใช้ครอบอาหารไม่สามารถเข้าไมโครเวฟได้ เช่น มีวัสดุที่เป็นโลหะเป็นองค์ประกอบ ไม่มีสัญลักษณ์ที่แสดงถึงความสามารถในการเข้าไมโครเวฟได้ ก่อนนำไปอุ่นก็ควรจะลอกฝาออกแล้วคลุมด้วยวัสดุที่เข้าไมโครเวฟได้เสียก่อนเพื่อความปลอดภัย