9. การเก็บเกี่ยวข้าวหลังเก็บเกี่ยวข้าว
เกษตรกรควรให้ความสำคัญกับการเก็บเกี่ยวและการปฏิบัติหลังเก็บเกี่ยว คือ การนวด ตาก ทำความสะอาด และเก็บรักษาข้าวให้ถูกต้องถูกวิธีและเหมาะสมทุกขั้นตอนเพื่อให้ได้ผลผลิตข้าวสูงและมีคุณภาพดีโดยยึดหลักปฏิบัติ เพื่อลดความสูญเสียปริมาณและคุณภาพข้าว เกษตรกรจะได้ผลผลิตต่อไร่มากขึ้น
การสูญเสียข้าวในการเก็บเกี่ยวและหลังเก็บเกี่ยว
1. การสูญเสียข้าวด้านปริมาณ
การสูญเสียข้าวด้านปริมาณ ผลผลิตข้าวลดลง เนื่องจากการร่วงหล่นในขณะเก็บเกี่ยวเมล็ดข้าวตกหล่นในนา การนวดข้าวที่มีข้าวดีติดไปกับเศษฟางมาก ถูกนก หนู แมลงทำลาย และเมล็ดข้าวแตกหักมาก
2. การสูญเสียข้าวด้านคุณภาพ
การสูญเสียข้าวด้านคุณภาพ เช่น เปอร์เซ็นต์ข้าวที่ต่ำ เมล็ดเหลืองขึ้นรา มีกลิ่นเหม็น ความงอกเร็วและมีความงอกต่ำกว่ามาตรฐาน
• การสูญเสียคุณภาพข้าวด้านความงอก มาตรฐานเมล็ดพันธุ์ข้าวของกรมวิชาการเกษตรกำหนดไว้ว่าเมล็ดพันธุ์จะต้องมีความงอกไม่ต่ำกว่า 80% การเสื่อมคุณภาพจะเร็วหรือช้า ขึ้นอยู่กับการปฏิบัติในการเก็บเกี่ยว และหลังเก็บเกี่ยว ตลอดจนสภาพแวดล้อม เช่น อุณหภูมิ ความชื้นสัมพัทธ์ในอากาศ ปริมาณฝนและน้ำค้าง อุณหภูมิสูงในขณะที่ความชื้นสัมพัทธ์สูงจะทำให้เมล็ดเสื่อมคุณภาพอย่างรวดเร็ว ดังนั้นจึงต้องทำการเก็บเกี่ยวเมล็ดพันธุ์ให้รวดเร็วที่สุดหลังการสุกแก่ หากปล่อยไว้นาน ก็จะทำให้เมล็ดพันธุ์เสื่อมคุณภาพเร็วยิ่งขึ้น
• การสูญเสียข้าวด้านคุณภาพการสี คุณภาพการสีประเมินจากเปอร์เซ็นต์ข้าวเต็มเมล็ดและต้นข้าว (Head rice) การสีข้าวเปลือกถ้าสีแล้วได้เปอร์เซ็นต์ข้าวเต็มเมล็ดและต้นข้าวขาวมาก หรือเปอร์เซ็นต์ข้าวหักน้อย แสดงว่าข้าวเปลือกมีคุณภาพสูง (ข้าวเต็มเมล็ดและต้นข้าว มากกว่า 50%) คุณภาพการสี จะสูงหรือต่ำขึ้นอยู่กับการร้าวของเมล็ดข้าว มีสาเหตุเนื่องจากการปฏิบัติไม่ถูกต้องดังนี้
- การเก็บเกี่ยวและการนวด
- การลดความชื้นเมล็ด
- เมล็ดข้าวที่แห้งเมื่อได้รับความชื้น เมล็ดข้าวจะขยายตัวขึ้น การหดตัวและขยายตัวของเมล็ดสลับกัน ทำให้เมล็ดร้าว ข้าวเปียกฝน 1 ครั้ง 2 ครั้ง ทำให้ต้นข้าวลดลง ร้อยละ 25-32
- กระบวนการขัดสีข้าว
วิธีเก็บเกี่ยวข้าว
ระยะเก็บเกี่ยว
ข้าวที่มีการดูแลรักษาจนเมล็ดเจริญเติบโตที่ถึงจุด physiological maturity เมล็ดจะมีองค์ประกอบทุกอย่างสมบูรณ์ เช่น ความชื้นของเมล็ด ขนาดของเมล็ด น้ำหนักแห้งของเมล็ด สีของเมล็ด ความงอก (germination) ความมีชีวิต (viability) ความแข็งแรงของเมล็ด (seed vigor) และมีคุณภาพของเมล็ดพันธุ์ (seed health) การเก็บเกี่ยวข้าวเมื่อเมล็ดเจริญเติบโตเต็มที่ ได้เมล็ดพันธุ์ที่มีคุณภาพดีที่สุด การเก็บเกี่ยวข้าวล่าช้าเมล็ดก็จะเสื่อมคุณภาพเร็วยิ่งขึ้นการเสื่อมคุณภาพของเมล็ด (seed deterioration) เพิ่มขึ้นตามระยะเวลาและสภาพแวดล้อม การเก็บเกี่ยวข้าวเพื่อให้ได้ผลผลิตสูงได้เมล็ดคุณภาพดี ต้นข้าวจะต้องเจริญเติบโต ออกดอกและสุกแก่อย่างสม่ำเสมอ เมล็ดข้าวมีน้ำหนักสูงที่สุดภายใน 21 วัน หลังจากผสมเกสรแล้ว ดอกข้าวทั้งรวงใช้เวลาประมาณ 7 วัน จึงผสมเกสรได้หมดรวมเวลาประมาณ 30 วัน หลังออกรวงแล้วจึงเก็บเกี่ยว การศึกษาคุณภาพการสีของข้าว 15 พันธุ์ในสถานีทดลองข้าวต่างๆ 9 แห่งพบว่า การเก็บเกี่ยวในระยะ 30-37 วัน และ 44 วันหลังข้าวออกดอกได้เปอร์เซ็นต์ข้าวเต็มเมล็ดและต้นข้าวที่ 44.27, 36.80 และ 28.71 ตามลำดับ เพื่อให้ข้าวมีคุณภาพการสีที่ดี ต้องเก็บเกี่ยวเมื่อมีความชื้นประมาณ 20% จากรายงานของสถาบันวิจัยข้าวได้ศึกษาระยะเวลาที่เหมาะสมในการเก็บเกี่ยวข้าวพันธุ์ กข 23 ให้ผลไปทำนองเดียวกันคือ ระยะเวลาเก็บเกี่ยวข้าวที่เหมาะสมที่สุดทำให้ผลผลิตสูงและดี นับจากวันออกดอกแล้วประมาณ 28 วัน ระยะนี้จะเห็นรวงข้าวโน้มลง เมล็ดที่โคนรวงยังคงมีสีเขียวบ้าง โดยเฉพาะใบธงยังมีสีเขียว ทั้งนี้วันออกดอกหมายถึงวันที่ข้าวออกดอกแล้วประมาณ 75-80% ของทั้งแปลง
วิธีเก็บเกี่ยวข้าว
การนวดข้าว
การนวดข้าวทำได้หลายวิธี เช่น ใช้คนนวด เครื่องนวด หรือเครื่องเกี่ยวนวด การนวดทุวิธีต้องระมัดระวังการสูญเสียจากการร่วงหล่น ติดไปกับฟางข้าว เมล็ดแตกร้าวหรือแตกหัก การนวดที่ปฏิบัติกันในประเทศไทยมีดังนี้
- การใช้คนนวดหรือนวดด้วยเท้า เป็นวิธีที่ดีทำให้ข้าวไม่เสียคุณภาพ และมีการสูญเสียน้อยแต่ต้องใช้เวลาและเปลืองแรงงานมาก ไม่เหมาะกับการทำนาจำนวนมาก เหมาะกับข้าวที่จะเก็บไว้เป็นเมล็ดพันธุ์
- การใช้แรงงานสัตว์นวด ข้อดีคือไม่มีผลกระทบต่อคุณภาพการสีข้าวแต่จะมีการสูญเสีย เนื่องจากนวดไม่หมดและมีสิ่งเจือปน
- การนวดโดยวิธีฟาด อาจฟาดกับลานข้าวโดยตรงในครุหรือภาชนะอื่นๆ การนวดวิธีนี้จะทำให้เกิดการสูญเสียอันเนื่องมากจากแรงของการฟาดทำให้มีเมล็ดบางส่วนกระเด็นสูญหายไปและบางส่วนจะตกค้างอยู่ในรวงที่นวดไม่หมด
- การนวดด้วยรถไถหรือแทรกเตอร์ วิธีนี้เมล็ดข้าวจะแตกร้าวหรือหัก ส่วนมากการสูญเสียเกิดขึ้นเนื่องจากเมล็ดข้าวเปลือกถูกรถบดแตกหักและนวดไม่หมด
- การนวดด้วยเครื่องนวด นิยมใช้กันในแหล่งที่ยังไม่มีรถเกี่ยวนวด ซึ่งส่วนใหญ่ก็มีเครื่องทำความสะอาดในตัวทำให้สะดวกและรวดเร็ว เสียค่าใช้จ่ายน้อย เหมาะแก่เกษตรกรที่มีการทำนามากๆ แต่มีข้อควรระวังคือ จะต้องปรับเครื่องนวดให้เหมาะสม มิฉะนั้นจะทำให้เกิดการสูญเสียอย่างมากทั้งในด้านปริมาณและคุณภาพเช่น เครื่องดูดลมมากเกินไป เมล็ดดีจะถูกดูดติดไปมากหรือเกิดการแตกหักสูง ควรปรับแต่งเครื่องให้เหมาะสม
- การใช้เครื่องเกี่ยวนวด เมล็ดข้าวที่นวดจะออกมาจากเครื่องนวดและบรรจุในถังเก็บหรือในกระสอบความสูญเสียข้าวขึ้นอยู่กับความเร็วของเครื่องเกี่ยวนวด อายุข้าว ความชื้นของเมล็ด และการล้มของข้าว นอกจากนี้พบว่า การเก็บเกี่ยวข้าวโดยใช้เครื่องเกี่ยวนวดที่ผลิตในประเทศไทยจะมีความสูญเสีย เฉลี่ยร้อยละ 3.68 และข้าวที่เก็บเกี่ยวได้มีความบริสุทธิ์ 95.75% และคุณภาพการสีและความงอกของเมล็ด จะมีคุณภาพใกล้เคียงกับการเก็บเกี่ยว ด้วยมือและใช้เครื่องนวด ข้อควรระวังเกษตรกรต้องทำความสะอาดก่อนใช้งานและต้องลดความชื้นให้เหลือ 12-14%
การนวดข้าว
การลดความชื้นเมล็ด
ความชื้นเมล็ดข้าวมีความสำคัญต่ออายุการเก็บรักษา หลังเก็บเกี่ยวและนวดข้าวแล้วต้องทำให้ความชื้นเมล็ดแห้งเร็วที่สุด ความชื้นที่เหมาะสมของเมล็ดที่เก็บรักษาไว้ในสภาพไม่มีการควบคุมอุณหภูมิจะเก็บข้าวเปลือกไว้นาน 2-3 เดือน เมล็ดที่มีความชื้น 13-14% จะเก็บรักษาไว้นานกว่า 3 เดือน เมล็ดที่มีความชื้นให้ต่ำกว่า 12% จะเก็บได้นาน
การลดความชื้นในเมล็ดข้าวทำได้ 2 วิธี คือ
1. วิธีธรรมชาติ (natural drying or sun drying) ใช้แสงแดดเป็นแหล่งความร้อนและอากาศทำให้ความชื้นลดลงเกษตรกรลดความชื้นของข้าวโดยวิธีธรรมชาติ ได้ 2 แบบคือ
1.1 ตากข้าวทิ้งไว้ในนาหลังเก็บเกี่ยว การนำข้าวไปนวดทันที โดยไม่ตากข้าวไว้ในนาจะได้ข้าวมีคุณภาพการสีดีที่สุดการตากข้าวทิ้งไว้ในนามีผลทำให้คุณภาพการสีของข้าวลดลงการตากไว้ในนานานขั้นจะยิ่งทำให้คุณภาพการสีของข้าวลดลง นักวิชาการแนะนำให้นำไปนวดทันทีแล้วจึงนำมาตากหรือใช้เครื่องอบลดความชื้น
1.2 การตากในลานหลังนวดข้าวแล้ว การลดความชื้นด้วยแสงแดด ช่วยลดความเสียหายของเมล็ดข้าวได้ดีกว่าการตากข้าวไว้ในนา การตากข้าวในลามให้ได้ผลดีมีข้อปฏิบัติดังนี้คือ
1.2.1 ควรมีวัสดุที่สะอาดและแห้งรองรับ เช่นผ้าใบหรือเสื่อที่สานด้วยไม้ไผ่ ไม่ควรตาก กับพื้นซีเมนต์หรือถนนโดยตรง เพราะเมล็ดอาจได้รับความร้อนจากพื้นสูงเกินไปทำให้เกิดการแตกร้าวกายในเมล็ดได้ในลานนวดก็ควรจะมีวัสดุรองรับ เพื่อป้องกันสิ่งสกปรกเจือปน และความชื้นจากพื้นดินก็จะมารวมอยู่ที่ผิวดินทำให้เมล็ดที่ติดกับผิวดินมีความชื้นสูง
1.2.2 ความหนาของข้าวที่ตากควรไม่เกิน 5-10 เซนติเมตร หากตากเมล็ดหนาเกินไปจะทำให้การระบายอากาศไม่ดี ข้าวแห้งช้า การตากเมล็ดบางเกินไปจะทำให้อุณหภูมิของข้าวสูงถึง 55-70 องศาเซลเซียส จะมีผลต่อคุณภาพการสี เพราะเกิดการแตกร้าวขึ้นภายในเมล็ดและเกิดเมล็ดเหลืองได้ ระหว่างการตากควรหมั่นกลับข้าวทุกๆ 2 ชั่วโมง หรือวันละ 4 ครั้ง จะช่วยลดความชื้นได้อย่างรวดเร็ว
1.2.3 ความชื้นสัมพัทธ์ เมล็ดที่กำลังลดความชื้น ต้องต่ำกว่าความชื้นสัมพัทธ์ที่จุดสมดุลย์ของเมล็ด การลดความชื้นจึงจะได้ผล ทั้งนี้ความชื้นสัมพัทธ์ไม่ควรเกิน 60%
1.2.4 เวลากลางคืนควรใช้วัสดุคลุมกองเมล็ดข้าวเพื่อป้องกันน้ำข้างหรือฝน
1.2.5 เวลาตากเมล็ดข้าวไม่ควรตากนานเกินไป เมื่อข้าวมีความชื้นประมาณ 12-14% ให้หยุดตาก
ข้าวที่จะเก็บไว้เป็นเมล็ดพันธุ์ จะเก็บรักษาได้นาน มีความงอกสูง ความชื้นของเมล็ดต่ำ และขณะเก็บต้องพยายามรักษาให้ระดับความชื้นของเมล็ดต่ำอยู่เสมอ เมล็ดพันธุ์ข้าวที่จะเก็บไว้ทำพันธุ์ควรจะผึ่งแดดเพื่อลดความชื้นให้เหลือ 9-10%
2. การใช้เครื่องอบ (artificial drying) การใช้เครื่องอบ มีข้อดีคือ สามารถทำได้ทุกสภาวะอากาศไม่ว่าฝนจะตกหรือมีแสงแดดน้อย ไม่ต้องเปลืองลานตาก สามารถควบคุมการลดความชื้นให้อยู่ในระดับที่ต้องการได้ ใช้เวลาการลดความชื้นไม่นาน และยังสามารถป้องกันความเสียหายของคุณภาพการสีได้ดีกว่าวิธีธรรมชาติ แต่มีข้อเสีย คือ เสียค่าใช้จ่ายสูง การเปรียบเทียงคุณภาพการสีข้าวที่ตากลดความชื้นและใช้เครื่องอบแห้งพบว่า วิธีการผึ่งแดดจะได้ข้าวเต็มเมล็ดและต้นข้าวระหว่าง 40-50% และน้อยกว่า 40% การใช้เครื่องอบแห้งได้ข้าวเต็มเมล็ดระหว่าง 50-60% การลดความชื้นของข้าวเปลือก อุณหภูมิที่ใช้ไม่ควรสูงเกิน 50 องศาเซลเซียส และถ้าเป็นเมล็ดพันธุ์ไม่ควรเกิน 43 องศาเซลเซียส
ข้อเสียของการลดความชื้นในเมล็ดข้าวล่าช้า จะทำให้เมล็ดมีความเสียหายจากเชื้อรา ทำให้เกิดข้าวเมล็ดเหลือง และเมล็ดพันธุ์เสื่อมความงอกเร็วขึ้น
การลดความชื้นเมล็ดข้าว
การทำความสะอาดเมล็ดข้าว
เป็นการแยกสิ่งเจือปนต่างๆ ออกจากเมล็ดข้าว เช่น เมล็ดวัชพืชเมล็ดข้าวเสีย เศษของใบ ลำต้น กรวด หิน ดิน ทราย และเศษโลหะต่างๆ เป็นต้น การทำความสะอาดข้าวอาศัยความแตกต่างของขนาดและน้ำหนักของเมล็ดข้าวเป็นหลักด้วยวิธี ฝัดด้วยกระด้ง การสาดข้าว การใช้เครื่องสีฝัด หรือการใช้เครื่องคัดทำความสะอาดขนาดใหญ่
การเก็บรักษาเมล็ดข้าว
วิธีการเก็บรักษาข้าว แบ่งออกเป็น 4 วิธี คือ
1. การเก็บในสภาพปกติไม่มีการควบคุมอุณหภูมิและความชื้นสัมพัทธ์ภายในโรงเก็บ เป็นวิธีที่นิยมใช้ในประเทศไทยเพราะลงทุนน้อย
2. การเก็บเกี่ยวในที่มีการควบคุมอุณหภูมิ ไม่ควบคุมความชื้นสัมพัทธ์ของอากาศ เช่น การเก็บไว้ในตู้เย็นหรือในไซโลเก็บข้าวที่มีการเป่าลมเย็น
3. การเก็บในที่ควบคุมความชื้นสัมพัทธ์ ไม่ควบคุมอุณหภูมิ ได้แก่ การเก็บข้าวไว้ในภาชนะเก็บมิดชิดสามารถป้องกันการเคลื่อนที่ผ่านเข้าออกของอากาศได้ เช่น การเก็บเมล็ดพันธุ์ไว้ในถังปี๊บ หรือ ถังพลาสติก การเก็บด้วยวิธีนี้ ความชื้นของเมล็ดข้าวก่อนเก็บต้องไม่เกิน 10%
การลดความชื้นของเมล็ดพันธุ์ข้าวให้เหลือ 6% แล้วเก็บในปี๊บปิดผนึกฝาให้แน่น เก็บรักษาในโรงเก็บธรรมดาจะเก็บเมล็ดพันธุ์ข้าวได้นาน 8 ปี ความงอกของเมล็ดจะลดลงเหลือ 80% ส่วนเมล็ดพันธุ์ข้าวญี่ปุ่นที่นำมาปลูกในประเทศไทย เมื่อเก็บรักษาในถังปี๊บโดยลดความชื้นให้เหลือ 9% จะยืดอายุการเสื่อมความงอกนาน 40 เดือน และเก็บรักษาเมล็ดพันธุ์ข้าวที่ความชื้น 10% ถังพลาสติก หรือ ถังน้ำมันขนาด 200 ลิตร จะเก็บได้นาน 2 ปี
การเก็บเมล็ดพันธุ์ข้าวปริมาณหลายตันเก็บรักษาโดยใช้ผ้าพลาสติกทาร์โพลิน (ผ้าพลาสติกที่ใช้รมก๊าซฟอสฟีนกำจัดแมลงศัตรูโรงเก็บ) ปิดคลุมกองเมล็ดพันธุ์แล้วใช้สารเคมีกำจัดแมลงศัตรูฉีดพ่นภายนอกผ้าทาร์โพลินทุกๆ 4 เดือน เพื่อป้องกันแมลงศัตรูทำลายผ้าทาร์โพลิน จะเก็บรักษาเป็นเมล็ดพันธุ์ได้นานหลายปี การลดความชื้นเมล็ดพันธุ์ลงเหลือ 9-10% และเก็บรักษาภายใต้ผ้าทาร์โพลิน สามารถยืดอายุการเก็บรักษาจากวิธีปกติทั่วไป 8 เดือน ยืดอายุได้ถึง 28 เดือน หรือ 2 ปี 4 เดือน นับจากหลังเก็บเกี่ยว
4. การเก็บในที่ควบคุมอุณหภูมิและความชื้นสัมพัทธ์สามารถป้องกันและลดความเสียหายของเมล็ดข้าวและคงคุณภาพดีได้นานหลายสิบปี แต่เสียค่าใช้จ่ายในการดูแลรักษาสูงมาก จึงนิยมใช้สำหรับงานอนุรักษ์เชื้อพันธุ์ (germplasm bank) เท่านั้น
วิธีเก็บรักษาข้าวที่ดีควรปฏิบัติดังนี้
1. ข้าวที่นำเข้าเก็บรักษา
1.1 ความชื้นของข้าว ไม่ควรสูงเกิน 14% และเมล็ดข้าวควรมีความชื้นไม่เกิน 12%
1.2 ความสะอาด ข้าวที่จะเก็บต้องสะอาดไม่มีสิ่งเจือปน เช่น เศษฟาง ตอซัง วัชพืช กรวด หิน ดิน และทรายเป็นต้น
1.3 ปลอดจากโรคและแมลงศัตรูพืชโดยการตรวจสอบแมลงศัตรูพืชก่อนเก็บในยุ้งฉาง
1.4 ต้องเก็บเกี่ยวในระยะสุกแก่ทางสรีรวิทยา ไม่เร็วหรือช้าเกินไป
2. สภาพของโรงเรือนเก็บ ต้องทำความสะอาดโรงเรือนเก็บ โดยการฉีดพ่นสารเคมีฆ่าแมลง ป้องกันกำจัดแมลง ตามผนังโรงเก็บ เพดาน และ ผนังโรงเก็บด้านนอก ก่อนนำข้าวใหม่เข้าเก็บรักษากระสอบเก่าที่ใช้เก็บข้าวมาแล้วต้องทำความสะอาดก่อนนำมาใช้
3. อุณหภูมิและความชื้นสัมพัทธ์ภายในโรงเก็บ ถ้ามีสูงเกินไปจะทำให้ข้าวเสื่อมคุณภาพเร็วขึ้นจุลินทรีย์จะเจริญเติบโตได้ดี ในสภาพอุณหภูมิ 20-40 องศาเซลเซียส และความชื้นสัมพัทธ์สูงกว่า 60% ส่วนแมลงศัตรูในโรงเก็บจะ เจริญเติบโตได้ดีที่อุณหภูมิระหว่าง 21-35 องศาเซลเซียส ความชื้นสัมพัทธ์ 65-80% ดังนั้นต้องควบคุมอุณหภูมิและความชื้นสัมพัทธ์ของอากาศในโรงเก็บให้เหมาะสม
4. ลักษณะโรงเก็บและลักษณะการเก็บรักษา โรงเก็บที่ดีควรตั้งอยู่บนที่ดอนและแห้ง รอบโรงเก็บต้องสะอาดโล่งไม่มีต้นไม้ใหญ่ปกคลุม ตัวโรงเก็บต้องมีผนังปิดมิดชิด แน่นหนา มีหลังคากันแดด กันฝน และน้ำค้างได้ควรยกพื้นสูง 80 เซนติเมตร เพื่อให้มีการถ่ายเทอากาศ การเก็บเมล็ดข้าวมี 2 แบบคือ
4.1 การเก็บแบบเป็นกองรวม การเก็บแบบเป็นกองรวมจะสะดวก ประหยัดเวลา แรงงาน และพื้นที่เก็บ แต่โอกาสเกิดความเสียหายง่าย หากข้าวมีความชื้นสูง เหมาะสำหรับการเก็บเกี่ยวไว้ในระยะสั้น แต่ถ้าจำเป็นต้องเก็บเป็นเวลานานควรเคลื่อนย้ายข้าวหรือพลิกกลับกองข้าว เพื่อให้ความร้อนและความชื้นที่ได้ถ่ายเทระหว่างการเคลื่อนย้าย หรือพลิกกลังกอง พยายามลดความชื้นของข้าวให้ต่ำที่สุดก่อนเก็บแบบกอง
4.2 การเก็บในกระสอบป่าน ถุงผ้า ถุงปุ๋ย ถุงพลาสติก และถังน้ำมัน
5. การจัดเก็บในขณะเก็บรักษาเมล็ดข้าว
5.1 ข้าวใหม่ไม่ควรเก็บไว้บริเวณเดียวกับข้าวเก่า และไม่ควรนำน้ำมันเชื้อเพลิง ปุ๋ย และ สารเคมีฆ่าแมลง เก็บรวมไว้ในโรงเก็บเดียว
5.2 การจัดวางข้าวในโรงเก็บควรมีวัสดุรองพื้น ไม่ควรวางหรือกองข้าวกับพื้น เพื่อป้องกันความเสียหายที่เกิดจากความชื้นจากพื้นโรงเก็บ
5.3 มีการหมุนเวียน เคลื่อนย้าย สลับที่ หรือพลิกกลับข้าวเป็นระยะเวลาที่กำหนด เพื่อทำให้ข้าวระบายความร้อนและความชื้นที่สะสมในกองออก
5.4 ข้าวที่บรรจุในกระสอบป่าน ควรจัดวางบนแคร่ไม้สูงจากพื้นประมาณ 10 เซนติเมตร
5.5 อย่าจัดวางกองข้าวชิดผนังโรงเก็บ หรือกองสูงเกินไป ควรห่างจากฝาผนังโรงเก็บทุกด้านอย่างน้อย 1 เมตร เพื่อการระบายอากาศที่ดี
5.6 ทำความสะอาดภายใน และภายนอกโรงเก็บสม่ำเสมอ รวมทั้งดูแลทำความสะอาดบริเวณพื้นโรงเก็บทุกวัน และทำความสะอาดรอบกองข้าว
5.7 ตรวจสอบข้าวที่เก็บรักษาไว้อย่างน้อยสัปดาห์ละหนึ่งครั้ง เพื่อป้องกันการทำลายของแมลง นก หนู หรือจุลินทรีย์ต่างๆ และสุ่มตัวอย่างไปตรวจสอบการทำลายของแมลงศตรูเดือนละครั้ง
5.8 ภาชนะบรรจุที่ใช้แล้ว เมื่อนำกลับมาใช้ใหม่ต้องทำความสะอาดเพื่อกำจัดแมลงศัตรูที่เหลืออยู่
5.9 ภายในโรงเก็บ ควรมีตาข่ายป้องกันนกบินเข้ามาตามช่องปิด และป้องกันกำจัดหนู โดยการใช้กับดัก หรือเหยื่อพิษ
การเก็บรักษาเมล็ดข้าว