1. พื้นฐานเกี่ยวกับกระบวนการฉีดพลาสติก

    หน้า   1   2    

1.6 การสับเปลี่ยนจากการฉีดเข้าสู่การย้ำ

1. เวลา การเลือกใช้เวลาในการสับเปลี่ยนนี้ ก็คือการตั้งเวลาในการฉีดนั่นเอง (ไม่รวมเวลาย้ำ) หรือก็คือเวลาในการสิ้นสุดการฉีดเพื่อเริ่มต้นให้การย้ำทำงานต่อ ซึ่งผลกระทบที่อาจจะเกิดขึ้นได้ คือ ถ้าตำแหน่งหยุดของสกรูไม่คงที่แม้ว่าเวลาที่ใช้จะเท่าเดิม อันเนื่องมาจากสาเหตุของอุณหภูมิพลาสติกเหลวในกระบอกไม่คงที่ ทำให้ความหนืดของพลาสติกเหลวเปลี่ยนแปลง หรือมาจากความดันของน้ำมันไฮดรอลิกเปลี่ยนแปลง จึงทำให้ปริมาณเนื้อพลาสติกเหลวที่เข้าในแม่พิมพ์ไม่แน่นอน ก่อให้เกิดผลกระทบโดยตรงต่อน้ำหนักและขนาดของชิ้นงานฉีด ดังนั้น การใช้เวลาในการสับเปลี่ยนจึงไม่เหมาะสำหรับงานฉีดทั่วไป แต่จะใช้ได้เฉพาะกับงานฉีดที่ต้องการความเร็วฉีดสูง ๆ นอกจากนี้การตั้งตัวเลขเวลาที่เครื่องฉีดให้ตรงกับปริมาณเนื้อพลาสติกที่ต้องการนั้นทำได้ยาก เช่น 1.02 หรือ 1.03 วินาที
2. ระยะทาง การใช้ระยะทางหรือตำแหน่งของสกรูในการสับเปลี่ยนจะนิยมใช้กันมากที่สุดในโรงงานฉีดพลาสติกโดยใช้ลิมิตสวิตช์เป็นตัวส่งสัญญาณตำแหน่งที่สิ้นสุดการฉีดเพื่อเข้าสู่การย้ำ เหตุผลที่นิยมใช้ระยะทางในการสับเปลี่ยนกันมากเนื่องจากง่ายต่อการกำหนดปริมาณเนื้อพลาสติกเหลวในกระบอกฉีดที่ต้องการให้ไหลเข้าแม่พิมพ์ ซึ่งคำนวณได้โดยตรงจากปริมาตรในกระบอกฉีด การตั้งค่าตัวเลขของระยะการหยุดของสกรูที่ตัวเครื่องก็ทำได้ง่าย และตรงกับปริมาณเนื้อพลาสติกที่คำนวณได้ แต่ข้อเสียก็มีอยู่เช่นกันคือ ในการฉีดด้วยความเร็วฉีดสูงมาก ๆ สกรูจะไม่สามารถหยุดได้ตรงตามตำแหน่งที่ต้องการคือเลยตำแหน่งที่กำหนด ดังนั้นการเลือกใช้ระยะทางในการสับเปลี่ยน จะต้องใช้ความเร็วฉีดช่วงสุดท้ายก่อนเข้าสู่การย้ำให้ช้าลงเท่าที่จะทำให้สกรูสามารถหยุดได้ตรงตามตำแหน่งที่กำหนด ความแม่นยำและความคลาดเคลื่อนของตัวลิมิตสวิตช์ก็มีผลเช่นกัน กล่าวคือเมื่อลิมิตสวิตช์ถูกกดจะต้องส่งสัญญาณ ทันทีและมีเวลาในการส่งสัญญาณ (Reaction Time) ที่สั้นที่สุดด้วย
การสับเปลี่ยนแบบการใช้เวลาหรือแบบการใช้ระยะทางนั้น จะต้องเติมพลาสติกเหลวให้เต็มในแม่พิมพ์พอดีเสียก่อนในช่วงการฉีด จึงจะสับเปลี่ยนเข้าสู่การย้ำได้ ถ้ามีการสับเปลี่ยนก่อนที่พลาสติกเหลวจะเต็มแม่พิมพ์ (พลาสติกเหลวไหลไม่เต็มในแม่พิมพ์ในช่วงการฉีด) อาจจะทำให้พลาสติกเกิดการเย็นตัวก่อน ชิ้นงานจะไม่เต็ม แม่พิมพ์ (เกิดรอยแหว่ง) ซึ่งเมื่อสับเปลี่ยนเข้าสู่การย้ำแล้วได้ชิ้นงานที่เต็มแม่พิมพ์ก็อาจจะทำให้ความหนาแน่นไม่สม่ำเสมอกันตลอดทั้งชิ้นงาน เกิดความเครียดในชิ้นงานมากเกินไป (บริเวณใกล้ Gate) แต่ถ้ามีการสับเปลี่ยนหลังจากที่พลาสติกเหลวเต็มในแม่พิมพ์นานหรือมากเกินไป (พลาสติกเหลวไหลเข้าเต็มในแม่พิมพ์อยู่เป็นเวลานาน หรือมากเกินไปในช่วงการฉีด) อาจจะเกิดแรงดันในแม่พิมพ์มากจนแม่พิมพ์เผยอออกและชิ้นงานเกิดครีบได้ แต่ถ้าเพิ่มแรงปิดแม่พิมพ์เพื่อแก้ปัญหาครีบนี้ ชิ้นงานก็มีโอกาสเกิดความเครียดได้มากขึ้น
กฎการสับเปลี่ยนจากการฉีดเข้าสู่การย้ำนั้นมีอยู่ว่าปริมาณเนื้อพลาสติกเหลวที่จะต้องไหลออกจากกระบอกฉีดเพื่อเข้าไปในแม่พิมพ์ต้องคงที่ทุกครั้งที่ทำการฉีด ดังนั้นการสับเปลี่ยนแบบใช้ระยะทางจะเหมาะสมมากที่สุด เพราะชิ้นงานฉีดทั่วไปจะมีผนังหนาและเครื่องฉีดส่วนใหญ่จะมีความเร็วในการฉีดอยู่หลายความเร็วอยู่แล้ว การฉีดจังหวะสุดท้ายจึงสามารถชะลอความเร็วและหยุดได้ตรงตามตำแหน่งการสับเปลี่ยนที่ตั้งเอาไว้ แต่การสับเปลี่ยนทั้งแบบใช้เวลาและระยะทางก็ยังมีข้อเสียที่เหมือนกันแม้ว่าสกรูจะหยุดได้ตรงตามตำแหน่งที่ตั้งไว้ก็ตามคือ ปริมาตรการฉีดจะคงที่แต่ปริมาณเนื้อพลาสติกในรูปของมวลหรือน้ำหนักนั้นจะไม่คงที่ เนื่องจากความหนาแน่นของพลาสติก เหลวจะมีการเปลี่ยนแปลงอยู่ตลอดเวลา ตามอุณหภูมิของพลาสติกเหลวในกระบอกฉีดที่เปลี่ยนไป สาเหตุมาจากเทคโนโลยีการให้และควบคุมความร้อนของแผ่นฮีตเตอร์ (Heater) ที่รัดอยู่ด้านนอกของกระบอกฉีดยังไม่ดีพอ ค่าความคลาดเคลื่อนยังมีสูง กล่าวคือเวลาที่เราตั้งค่าอุณหภูมิที่กระบอกฉีด 200 oC เราจะต้องตั้งค่าความคลาดเคลื่อน เอาไว้ด้วย เช่น 200+-10 oC ซึ่งแสดงว่ายอมให้อุณหภูมิมีค่า 190–210 oC นั่นเอง ถ้าเราตั้งค่าความคลาดเคลื่อนนี้ให้ต่ำ เครื่องฉีดบางรุ่นจะเกิดสัญญาณเตือน (Alarm) ตลอดเวลา เครื่องฉีดบางรุ่นต้องตั้งค่าเอาไว้มากถึง +-50 oCจึงจะไม่เกิดสัญญาณเตือน ด้วยเหตุนี้เครื่องฉีดรุ่นใหม่ที่สามารถตั้งค่าความคลาดเคลื่อนของอุณหภูมิได้แคบหรือน้อยที่สุดจะทำให้ได้คุณภาพงานฉีดดีที่สุดด้วยเช่นกัน
3. ความดันน้ำมันไฮดรอลิก สำหรับเครื่องฉีดพลาสติกที่ใช้ระบบส่งกำลังด้วยน้ำมันไฮดรอลิกจะสามารถใช้การสับเปลี่ยนแบบนี้ได้ แต่ไม่นิยมใช้เนื่องจากมีโอกาสผิดพลาดได้ง่าย เพราะการสับเปลี่ยนแบบนี้จะใช้การกำหนดค่าความดันของน้ำมันไฮดรอลิกในช่วงฉีดเอาไว้ เมื่อความดันได้ค่าตามที่ตั้ง การฉีดก็จะสิ้นสุดลงและเริ่มการย้ำต่อทันที ดังนั้นถ้ามีการอุดตันของช่องทางการไหลหรือการไหลของพลาสติกเหลวไม่ถูกต้อง การฉีดและย้ำจะมีการทำงาน แต่เราจะไม่ได้ชิ้นงานฉีด เช่น ไม่มีพลาสติกไหลเข้าแม่พิมพ์เนื่องจากพลาสติกเย็นตัวอุดตันในหัวฉีด ทางวิ่งหรือที่เกต ชิ้นงานแหว่งไม่เต็มแม่พิมพ์เกิดรอยยุบ เนื้อแน่นไม่สม่ำเสมอกันทั้งชิ้นงาน ชิ้นงานเกิดความเครียดมาก
4. ความดันในแม่พิมพ์พลาสติก การใช้ค่าความดันของพลาสติกเหลวในแม่พิมพ์เป็นตัวสับเปลี่ยนเพื่อเข้าสู่การย้ำ จำเป็นต้องมิการติดตั้งอุปกรณ์ตรวจวัดความดันไว้ในแม่พิมพ์ โดยให้ปลายของอุปกรณ์วัดความดันสัมผัสพอดีกับผิวของชิ้นงานพลาสติกในแม่พิมพ์ โดยจะติดตั้งเอาไว้ที่แม่พิมพ์ด้านแกนคอร์ (Core) หรือด้านคาวิตี้ (Cavity) ก็ได้ตามความเหมาะสม ส่วนตัวเครื่องฉีดเองก็ต้องมีอุปกรณ์ฮาร์ดแวร์พร้อมทั้งซอฟต์แวร์ที่สามารถรองรับสัญญาณที่ส่งมาจากตัววัดความดันพร้อมทั้งประมวลผลและแสดงผลได้ด้วย หลักการปรับตั้งการสับเปลี่ยนจากการฉีดเข้าสู่การย้ำแบบใช้ความดันในแม่พิมพ์นี้ จะทำการกำหนดความดันของพลาสติกเหลวในแม่พิมพ์เอาไว้ เมื่อความดันถึงค่าที่ตั้งก็จะเกิดการสับเปลี่ยนเพื่อให้เกิดการย้ำทำงานต่อทันที โดยค่าความดันที่กำหนดควรเป็นจุดที่พลาสติกเหลวเริ่มเต็มในแม่พิมพ์เป็นต้นไปจนถึงจุดที่พลาสติกเหลวมีความหนาแน่นมากที่สุดตาม PVT ไดอะแกรม (โดยดูว่าพลาสติกเหลวขณะอยู่ในแม่พิมพ์ ณ เวลานั้น ๆ จะรับแรงกดได้สูงสุดไม่เกินเท่าไร)
         การกำหนดจุดสับเปลี่ยนจากการฉีดเข้าสู่การย้ำ ให้ตรงกับจุดที่ปริมาณเนื้อพลาสติกเหลวเต็มแม่พิมพ์พอดีได้นั้นอาจจะใช้วิธีการคำนวณหรือจะทำการฉีดจริงก็ได้ โดยจะต้องทำการฉีดแบบไม่มีการย้ำก่อน แล้วขยับจุดสับเปลี่ยนไปเรื่อย ๆ จนกว่าจะได้ชิ้นงานออกมาเต็มพอดี (ชิ้นงานเต็มตามแนวยาว แต่จะเกิดรอยยุบ)
ตารางที่ 1.1 สรุปข้อดี–ข้อเสียของรูปแบบการสับเปลี่ยนจากการฉีดเข้าสีการย้ำ
สรุปข้อดี–ข้อเสียของรูปแบบการสับเปลี่ยนจากการฉีดเข้าสีการย้ำ

1.7 ช่วงการฉีด (Injection Phase)

ในช่วงของการฉีด จะเริ่มต้นตั้งแต่สกรูเริ่มเคลื่อนที่ตามแนวแกนโดยไม่มีการหมุนเพื่อขับดันให้พลาสติกเหลวที่อยู่ในกระบอกฉีดหน้าปลายสกรูไหลออกจากหัวฉีดเข้าแม่พิมพ์จนเต็มในแม่พิมพ์ ดังนั้นหน้าที่หลักของ
ช่วงการฉีดก็คือทำให้พลาสติกเหลวเต็มในแม่พิมพ์พอดี จนในบางครั้งจะเรียกช่วงฉีดว่าเป็นช่วงเติมเต็ม (Filling Phase) พารามิเตอร์ในช่วงการฉีดประกอบด้วยความดันฉีด ความเร็วฉีด ระยะทางฉีด และเวลาฉีด แต่เครื่องฉีดบางรุ่นจะมีฟังก์ชันให้มีการหมุนสกรูในจังหวะฉีดได้ด้วย คือทำการ Extrusion ไปด้วยนั่นเอง โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อดึงพลาสติกจากกรวยเติมเม็ดพลาสติก (Hopper) เข้ามาในกระบอกฉีดเพิ่มขึ้น จึงสามารถฉีดพลาสติกได้ น้ำหนักมากขึ้น

1. ความดันในการฉีด (Injection Pressure)

สามารถแสดงและปรับตั้งได้เป็นความดันของน้ำมันไฮดรอลิก (สำหรับเครื่องฉีดระบบไฮดรอลิกทั่วไป) และความดันของพลาสติกเหลวที่อยู่ในกระบอกฉีดหน้าปลายสกรู (สำหรับเครื่องฉีดรุ่นใหม่บางรุ่นเท่านั้น) โดยสังเกตได้ง่าย ๆ คือถ้าแสดงเป็นความดันของน้ำมันไฮดรอลิก ความดันสูงสุดจะไม่เกิน 160 บาร์ (ทั่วไป) และ 200–250 บาร์ (บางรุ่น) แต่ถ้าแสดงเป็นความดันของพลาสติกเหลว ความดันจะมีค่าตั้งแต่ 300 บาร์ ขึ้นไปจนถึงประมาณ 2,000–3,000 บาร์ ซึ่งค่าความดันฉีดควรแสดงเป็นความดันที่ พลาสติกเหลวจะถูกต้องมากที่สุด

2. ความเร็วในการฉีด (Injection Speed)

โดยทั่วไปจะเป็นความเร็วในการเคลื่อนที่ตามแนวแกนของสกรูฉีด (มีหน่วยเป็น mm/s) แต่ถ้าขนาดของสกรูมีการเปลี่ยนแปลงไปโดยที่ความเร็วตามแนวแกนยังเท่าเดิม จะทำให้อัตราการไหลของพลาสติกเหลวที่ออกจากหัวฉีดเปลี่ยนแปลงไปด้วย ซึ่งจะส่งผลต่อการเปลี่ยนแปลงของคุณภาพชิ้นงาน ดังนั้นจึงควรใช้อัตราการฉีดหรืออัตราฉีด (Injection Rate) (ซึ่งมีหน่วยเป็น mm3/s) จะมีความเหมาะสมกว่า เพราะถ้าเรากำหนดให้อัตราฉีดเท่าเดิม ความเร็วตามแนวแกนของสกรูก็จะเปลี่ยนแปลงไปตามขนาด ความโตของสกรู ซึ่งเครื่องฉีดรุ่นใหม่ ๆ จะนิยมใช้การบอกความเร็วแบบนี้กันมากขึ้น เพราะเราควรพิจารณาถึงความเป็นไปที่เกิดขึ้นจริงกับพลาสติกจะเหมาะสมที่สุด

3. เวลาในการฉีด

จะต้องกำหนดระยะเวลาให้เพียงพอที่จะฉีดเนื้อพลาสติกเหลวเข้าไปในแม่พิมพ์ได้ตามปริมาณที่ต้องการ โดยเฉพาะการใช้ระยะทางในการสับเปลี่ยนจากการฉีดเข้าสู่การย้ำ ควรตั้งเวลาฉีดเอาไว้ให้มากกว่าเวลาฉีดที่ต้องใช้จริงเท่ากับ 1 เท่าตัว (100%) แต่ไม่ควรเกินกว่า 10 วินาที เพราะถ้าเกิดปัญหา เช่น พลาสติกเย็นตัวในหัวฉีดหรือในแม่พิมพ์ หรือมีชิ้นส่วนที่เป็น Runner หรือ Gate ติดค้างอยูในแม่พิมพ์ สกรูฉีดจะไม่ต้องฉีดค้างอยู่เป็นเวลานาน ซึ่งจะเป็นผลเสียต่อตัวเครื่องฉีดและแม่พิมพ์ได้

4. ระยะทางการฉีด

เป็นพารามิเตอร์ตัวที่น่าจะสำคัญที่สุดในช่วงของการฉีด เนื่องจากเป็นตัวกำหนดปริมาณเนื้อพลาสติกที่จะเข้าไปในแม่พิมพ์ เพราะถ้ากำหนดระยะทางการฉีดน้อยเกินไป ชิ้นงานจะไม่เต็มแม่พิมพ์ในช่วงฉีด แต่การย้ำจะทำให้ชิ้นงานเต็มแทน ซึ่งอาจจะเกิดผลกระทบต่อคุณภาพชิ้นงานได้ เช่น เกิดความเครียด ความหนาแน่นตลอดชิ้นงานไม่สม่ำเสมอ เกิดรอยยุบในช่วงสุดท้ายของการไหล หรือการย้ำอาจจะไม่สามารถทำให้ชิ้นงานเต็มได้ แม้ว่าจะใช้ความเร็ว ความดัน และเวลาในการฉีดมากแล้วก็ตาม และที่สำคัญที่สุดในกรณีที่ใช้หลายจังหวะการฉีด จะต้องกำหนดปริมาณเนื้อพลาสติกเหลวในแต่ละจังหวะให้ถูกต้องเหมาะสมกับลักษณะชิ้นงานเสียก่อน จึง่จะสามารถตั้งความเร็วและความดันฉีดได้ จากประสบการณ์ของโรงงานพลาสติกเรา พบปัญหาช่างฉีดปรับตั้งการฉีดไม่ถูกต้องตามขั้นตอนบ่อยครั้งมาก คือ ปรับตั้งความเร็วและความดันฉีดก่อนการกำหนดปริมาณเนื้อพลาสติก จึงไม่สามารถแก้ไขปัญหาได้ด้วยการใช้ความเร็วฉีดหลายจังหวะ ถ้าใช้ความเร็วฉีดบางจังหวะสูงมาก สกรูอาจจะหยุดเลยตำแหน่งที่กำหนดได้ ดังนั้นให้ปรับระยะทางการฉีดชดเชยตามความเหมาะสม แล้วตรวจสอบด้วยการฉีดจริงอีกครั้งพร้อมทั้งดูชิ้นงานฉีดที่ได้

1.8 ช่วงการแพ็กกิง (Packing)

ช่วงการแพ็กกิง (Packing) หรือการอัด (Compression) จะเป็นช่วงที่พลาสติกเหลวในกระบอกฉีดถูกขับดันให้เข้าไปในแม่พิมพ์ที่มีพลาสติกเหลวอยู่เต็มแล้ว ดังนั้นพลาสติกในแม่พิมพ์จะเกิดการอัดตัวและมีความหนาแน่นมากขึ้น ความดันในแม่พิมพ์จะสูงขึ้นอีกและอาจจะสูงขึ้นอย่างทันทีทันใด จุดประสงค์ที่ต้องมีการแพ็กกิง หรือการอัดคือเพื่อให้ชิ้นงานฉีดมีคุณภาพที่ดี เช่น ไม่เกิดรอยยุบ มีขนาดเที่ยงตรง มีน้ำหนักได้ตามกำหนด มีสมบัติทางกลและกายภาพตามที่ต้องการ
การอัดไม่สามารถที่จะปรับตั้งหรือกำหนดได้โดยตรงที่ตัวเครื่องฉีด แต่เป็นสิ่งที่เกิดขึ้นกับพลาสติกในแม่พิมพ์ ดังนั้นการอัดจะเริ่มต้นเมื่อพลาสติกเหลวเริ่มเต็มแม่พิมพ์หรือเมื่อสิ้นสุดการเติม (Filling) นั่นเอง การอัดจะปรับตั้งได้ทางอ้อมโดยปรับตั้งได้ที่ช่วงการฉีดและช่วงการย้ำเท่านั้น เช่น ถ้าฉีดจนได้พลาสติกเหลวเต็มแม่พิมพ์ พอดีแล้วสับเปลี่ยนเข้าสู่การย้ำทันที (ต้องฉีดแบบไม่มีการย้ำแล้วให้ได้ชิ้นงานเต็มพอดี) การอัดจะเกิดขึ้นในช่วงการย้ำทั้งหมด 100% (สังเกตดูได้ว่าเมื่อเข้าสู่การย้ำสกรูจะยังเคลื่อนที่ต่อไปได้เรื่อย ๆ) แต่ถ้าฉีดจนได้พลาสติกเหลวเต็มแม่พิมพ์แล้ว แต่การฉีดยังไม่เสร็จคือยังไม่ถึงจุดสับเปลี่ยนและเมื่อถึงจุดสับเปลี่ยนแล้วเข้าสู่การย้ำโดยที่สกรูหยุดอยู่เฉย ๆ ไม่มีการเคลื่อนที่ต่อไปข้างหน้าหรือมีการถอยหลังกลับ นั่นแสดงว่าการอัดเกิดขึ้นในช่วงฉีดทั้งหมด 100%
เพื่อให้ได้ชิ้นงานฉีดที่มีสมบัติทางกลและทางกายภาพโดยรวมดีที่สุด การอัดควรเกิดขึ้นในช่วงการฉีด 100% เนื่องจากเป็นช่วงที่พลาสติกเหลวยังมีอุณหภูมิสูงอยู่ การอัดตัวจะทำได้ง่ายและเกิดความหนาแน่นสูง แต่อาจจะเกิดข้อบกพร่องได้มาก เช่น ชิ้นงานเกิดครีบได้ง่าย หรือมีความเครียดตกค้างในชิ้นงานบ้างเล็กน้อย (แต่ไม่มากเท่ากับในช่วงการย้ำ) ปัญหาการเกิดครีบอาจจะแก้ไขได้ด้วยการเพิ่มแรงปิดแม่พิมพ์หรือใช้เครื่องฉีดที่มีแรงปิดแม่พิมพ์สูงขึ้น แต่จะสิ้นเปลืองค่าใช้จ่ายและเกิดความเสียหายต่อแม่พิมพ์และตัวเครื่องฉีดมากขึ้น ด้วยเหตุนี้จึงต้องลดการอัดในช่วงการฉีดลงและให้เกิดขึ้นในช่วงการย้ำบ้าง โดยสัดส่วนจะเป็นเท่าไรขึ้นอยู่กับความเหมาะสมและคุณภาพชิ้นงานที่ยอมรับได้ หรืออาจจะเกิดในช่วงการย้ำทั้งหมดก็ได้ แต่ไม่แนะนำให้ใช้เนื่องจากจะเกิดผลเสีย มากกว่า เช่น เกิดความดันตกค้างมาก ความหนาแน่นไม่สม่ำเสมอกันตลอดชิ้นงาน (โดยเฉพาะชิ้นงานที่มีระยะทางการไหลที่ยาว)

1.9 ช่วงการย้ำ (Holding Phase)

ถ้าดูตามตัวอักษรแล้วคำว่า Holding น่าจะหมายถึงการรักษาความดันไว้ให้คงที่อยู่ตลอดระยะเวลาที่กำหนด ดังนั้นหน้าที่หลักของการย้ำ (Holding) ก็คือป้องกันไม่ให้พลาสติกเหลวที่ไหลเข้าแม่พิมพ์แล้วเกิดการไหลย้อนกลับเข้าไปในกระบอกฉีดอีกโดยไม่มีการเติมพลาสติกเหลวเข้าแม่พิมพ์เพิ่มเติมด้วย นั่นคือเมื่อเข้าสู่การย้ำสกรูฉีดจะต้องหยุดนิ่งจนกว่าจะหมดเวลาที่ตั้ง (ถ้าการอัดเกิดในช่วงการฉีดทั้งหมด) แต่ในความเป็นจริงจะทำได้ยาก ดังนั้นในการปฏิบัติจริงเมื่อเข้าสู่การย้ำจึงยอมให้สกรูมีการเคลื่อนที่ไปข้างหน้าหรือยอมให้ถอยหลังกลับแล้วหยุดได้บ้าง แต่จะไม่ยอมให้ถอยหลังกลับแล้วเดินหน้าอีก พารามิเตอร์ในช่วงการย้ำจะประกอบไปด้วยเวลาในการย้ำความดัน ในการย้ำ และความเร็วของสกรู (ซึ่งมีเฉพาะเครื่องฉีดพลาสติกบางรุ่น)
    หน้า   1   2    
CONTACT
169/47 ถ.พุทธมณฑลสาย 4 ต.กระทุ่มล้ม  อ.สามพราน จ.นครปฐม 73220
086-070-0007
ananindustry@gmail.com
https://www.ananindustry.com
WORKING DAYS/HOURS
วันจันทร์ - วันเสาร์
8.00 - 17.00 น.
Copyright © 2008 Anan Industry Company Limited. All Rights Reserved