6. การประยุกต์ใช้ความดันในแม่พิมพ์พลาสติก

    หน้า   1   2    

6.1 บทนำ

ตามที่โรงงานพลาสติกทราบกันดีอยู่แล้วว่า ความดันของพลาสติกในแม่พิมพ์ฉีดจะมีการเปลี่ยนแปลงไปตามเงื่อนไขและการปรับตั้งพารามิเตอร์ต่าง ๆ ในการฉีด เช่น เมื่อความดันในการฉีดและย้ำเพิ่มขึ้น ความดันในแม่พิมพ์จะสูงขึ้น เป็นต้น และสิ่งที่สำคัญที่สุดคือ ลักษณะความดันของพลาสติกในแม่พิมพ์จะมีผลกระทบโดยตรงต่อคุณภาพของชิ้นงานที่ฉีดได้

6.2 ผลกระทบของพารามิเตอร์ในการฉีดต่อความดันในแม่พิมพ์

เมื่อปรับตั้งหรือเปลี่ยนแปลงพารามิเตอร์ในการฉีด จะเกิดผลกระทบขึ้นโดยตรงต่อลักษณะของความดันของพลาสติกเหลวในแม่พิมพ์ ดังตารางต่อไปนี้
ผลกระทบของพารามิเตอร์ในการฉีดที่มีต่อความดันในแม่พิมพ์
ผลกระทบของพารามิเตอร์ในการฉีดที่มีต่อความดันในแม่พิมพ์ 02
ตารางที่ 6.1 ผลกระทบของพารามิเตอร์ในการฉีดที่มีต่อความดันในแม่พิมพ์
ค่าของความดันและเวลาของความดันที่เกิดขึ้นในแม่พิมพ์ที่มากขึ้น โดยรวมแล้วจะทำให้คุณภาพของชิ้นงานมีแนวโน้มที่ดีขึ้นคือ ความเที่ยงตรงของขนาดดีขึ้น สมบัติทางกายภาพดีขึ้น น้ำหนักเพิ่มขึ้น แต่ถ้าค่าของความดันและเวลาของความดันที่เกิดขึ้นในแม่พิมพ์มีมากเกินไปจะส่งผลให้ชิ้นงานมีโอกาสเกิดครีบ เกิดการบิดเบี้ยว เสียรูป เกิดความเครียดมากจนแตกร้าวได้เช่นกัน
ตัวอย่างลักษณะความดันในแม่พิมพ์ที่เกิดปัญหา
รูปที่ 6.2 ตัวอย่างลักษณะความดันในแม่พิมพ์ที่เกิดปัญหา

6.3 ลักษณะกราฟความดันในแม่พิมพ์ที่เหมาะสม

ลักษณะกราฟความดันในแม่พิมพ์ฉีดที่เหมาะสมและควรจะเป็นนั้น จะต้องมีช่วงต่าง ๆ ของเส้นกราฟ ความดันของพลาสติกที่เกิดขึ้นในแม่พิมพ์ฉีดตามรูปที่ 6.2 โดยเริ่มตั้งแต่พลาสติกเหลวถูกฉีดให้ไหลเข้าแม่พิมพ์ จนกระทั่งสิ้นสุดการย้ำจะต้องประกอบไปด้วย 3 ช่วงด้วยกัน ซึ่งมีรายละเอียดดังนี้
1. ช่วงเติม (Filling) ลักษณะของเส้นกราฟจะเป็นเส้นตรง ช่วงเติมนี้จะเป็นช่วงที่พลาสติกเหลวไหลเข้าแม่พิมพ์จนกระทั่งเต็มในแม่พิมพ์พอดี ส่วนความยาวของช่วงเวลานี้และความชันเส้นกราฟจะขึ้นอยู่กับปริมาณและอัตราการไหลของพลาสติกเหลวที่ไหลเข้าแม่พิมพ์ ถ้าปริมาณของพลาสติกเหลวที่ไหลเข้าแม่พิมพ์มาก เส้นกราฟจะมีความชันมากขึ้น แต่ถ้าอัตราการไหลของพลาสติกเหลวที่ไหลเข้าแม่พิมพ์สูงหรือไหลเข้าแม่พิมพ์เร็ว ช่วงเติมนี้จะสั้นลง คือเวลาในช่วงเติมนี้จะน้อยลง
2. ช่วงอัด (Packing หรือ Compression) เป็นช่วงที่พลาสติกเหลวในกระบอกฉีดถูกขับดันเข้าไปในแม่พิมพ์อย่างต่อเนื่อง ทำให้พลาสติกเหลวที่ถูกเติมเต็มในแม่พิมพ์ในช่วงเติมมีความหนาแน่นมากขึ้นเรื่อย ๆ จนอยู่ในระดับสูงสุดตามที่ต้องการ ข้อดีของการอัดที่เกิดขึ้นกับพลาสติกในแม่พิมพ์คือ ชิ้นงานจะมีขนาดใกล้เคียงกับแม่พิมพ์ มีความหนาแน่นดี มีสมบัติทางกลดี แต่ถ้าการอัดมีค่ามากหรือนานเกินไปจะมีข้อเสียคือการเกิดครีบที่ขอบรอยประกบแม่พิมพ์ การเกิดความเครียดในชิ้นงานจนทำให้ชิ้นงานเกิดการบิดงอเสียรูป แตกร้าว ฯลฯ ลักษณะความเป็นไปของความดันพลาสติกในแม่พิมพ์ในช่วงอัดนี้จะสามารถเกิดขึ้นได้ 3 รูปแบบดังนี้
(1) เกิดขึ้นในช่วงการฉีดทั้งหมด กล่าวคือเราสามารถปรับตั้งค่าพารามิเตอร์ในการฉีดให้ทำหน้าที่ทั้งการเติมเต็มและการอัดได้ด้วย โดยการปรับตั้งระยะทางการฉีด (ระยะทางของเนื้อพลาสติกเหลวในกระบอกฉีด ในช่วงการฉีด) ให้มากขึ้น ด้วยการตั้งค่าตัวเลขของจุดสับเปลี่ยนจากการฉีดเข้าสู่การย้ำให้มีค่าน้อยลง หรือตั้งค่าเวลาในการฉีดให้มากขึ้น (ในกรณีที่ใช้เวลาเป็นตัวสับเปลี่ยน) นั่นคือเมื่อพลาสติกเหลวถูกเติมจนเต็มแม่พิมพ์แล้ว พลาสติกจะถูกอัดตัวอยู่ในแม่พิมพ์ทันที ซึ่งช่วงเติมและช่วงอัดที่เกิดขึ้นอย่างต่อเนื่องกันทันทีภายในช่วงจังหวะ การฉีดนี้จะทำให้ชิ้นงานฉีดที่ได้มีสมบัติทางกลที่ดีที่สุด (จากการทดลองของผู้เขียน) เนื่องจากอัดพลาสติกในช่วงที่พลาสติกมีความพร้อมที่จะถูกอัดตัวได้ แต่อาจจะเกิดปัญหาการเกิดครีบที่ชิ้นงานได้ เพราะความดันในแม่พิมพ์มีค่าสูงมาก การแก้ปัญหานี้คือต้องใช้เครื่องฉีดขนาดแรงปิดแม่พิมพ์มาก ๆ ในการฉีดชิ้นงานขนาดเล็ก ตัวอย่างที่พบได้บ่อยมาก เช่น ชิ้นส่วนรถยนต์ จะใช้แม่พิมพ์และเครื่องฉีดที่มีขนาดใหญ่กว่าการฉีดชิ้นงานที่ใช้ในครัวเรือนที่มีขนาดใกล้เคียงกัน
(2) เกิดขึ้นในช่วงการย้ำทั้งหมด กล่าวคือเมื่อฉีดเพื่อเติมพลาสติกเหลวให้เต็มแม่พิมพ์เรียบร้อยแล้วและสับเปลี่ยนเข้าสู่การย้ำ การอัดตัวของพลาสติกในแม่พิมพ์จะเกิดขึ้นในช่วงของการย้ำนี้ทั้งหมด ซึ่งช่วงเติมและช่วงอัดจะเกิดขึ้นอย่างไม่ต่อเนื่องกันทันที เนื่องจากจะมีการหยุดชะงักของเวลาการไหลของพลาสติกเหลวที่ไหลเข้าแม่พิมพ์ที่ตำแหน่งของจุดสับเปลี่ยนจากการฉีดเข้าสู่การย้ำ ชิ้นงานที่ได้จะมีสมบัติทางกลที่ไม่ดีเพราะพลาสติกในแม่พิมพ์ถูกอัดตัวในขณะที่มีอุณหภูมิต่ำลงแล้วและชิ้นงานอาจจะเกิดความเครียดได้ แต่ข้อดีคือชิ้นงานจะเกิดครีบน้อยหรือไม่มีครีบเลย
(3) เกิดขึ้นทั้งในช่วงการฉีดและการย้ำ เป็นการป้องกันปัญหาที่อาจจะเกิดขึ้นได้กับตัวชิ้นงานฉีดจากการปรับตั้งการฉีดทั้งสองรูปแบบที่กล่าวมา (ทำให้เกิดการอัดในช่วงการฉีดทั้งหมดหรือในช่วงการย้ำทั้งหมด) โดยในช่วงของการฉีดจะฉีดเพื่อเติมพลาสติกเหลวให้เต็มแม่พิมพ์พร้อมทั้งอัดไปด้วย แต่การอัดจะเกิดขึ้นไม่มาก หลังจากนั้นจะสับเปลี่ยนเข้าสู่การย้ำเพื่ออัดต่อไป จะเห็นได้ว่าการอัดจะเกิดขึ้นทั้งในช่วงการฉีดและการย้ำ ซึ่งสัดส่วนระหว่างการอัดในช่วงการฉีดและช่วงการย้ำจะเป็นเท่าไรนั้น ขึ้นอยู่กับความต้องการของผู้ปรับตั้งการฉีดหรือตามความเหมาะสม โดยมีข้อควรคำนึงถึงว่าถ้าการอัดเกิดขึ้นในช่วงการฉีดมากเท่าไร ชิ้นงานที่ได้จะมีสมบัติทางกล ที่ดีขึ้นแต่จะมีโอกาสเกิดครีบมากขึ้นเช่นกัน และถ้าการอัดเกิดขึ้นในช่วงการย้ำมากเท่าไร ชิ้นงานที่ได้จะมีโอกาส เกิดครีบได้น้อยแต่จะมีโอกาสเกิดความเครียดได้มากกว่า
เนื่องจากพลาสติกถูกอัดตัวในขณะที่อุณหภูมิต่ำลงมากกว่า
สรุปข้อดีข้อเสียของรูปแบบการปรับตั้งการอัด (Packing)
ตารางที่ 6.2 สรุปข้อดีข้อเสียของรูปแบบการปรับตั้งการอัด (Packing)
3. ช่วงรักษาความดัน (Holding) เป็นช่วงที่หยุดการเติมพลาสติกเหลวเข้าแม่พิมพ์แล้วเมื่อพลาสติกในแม่พิมพ์มีค่าความดันสูงสุดตามที่ต้องการ คือสกรูฉีดจะหยุดนิ่งอยู่กับที่ เพื่อป้องกันไม่ให้พลาสติกในแม่พิมพ์ไหลกลับเข้ามาในกระบอกฉีด และเป็นการรักษาความดันของพลาสติกในแม่พิมพ์ให้มีค่าลดลงอย่างสม่ำเสมอตามอุณหภูมิของพลาสติกที่ลดลง ซึ่งคำว่า “รักษาความดัน (Holding)” ที่เกิดขึ้นกับพลาสติกในแม่พิมพ์นี้ อาจจะเป็นตัวเดียวกันกับคำว่า “รักษาความดัน (Holding)” ที่อยู่บนหน้าจอของเครื่องฉีดก็ได้ โดยผู้ออกแบบและสร้างเครื่องฉีดพลาสติกน่าจะต้องการให้คำว่า “Holding” บนหน้าจอเครื่องฉีดมีความหมายเดียวกับคำว่า “Holding” ที่ควรเกิดขึ้นจริงในแม่พิมพ์ ซึ่งขึ้นอยู่กับการปรับตั้งของช่างฉีดในโรงงานพลาสติกว่าจะปรับตั้งให้ Holding ทำหน้าที่อย่างไร เช่น ทำหน้าที่ Packing เพียงอย่างเดียว หรือทำหน้าที่ Packing และ Holding ด้วย หรือทำหน้าที่ Holding เพียงอย่างเดียว
ลักษณะช่วงต่าง ๆ ของความดันที่เกิดขึ้นในแม่พิมพ์
รูปที่ 6.2 ลักษณะช่วงต่าง ๆ ของความดันที่เกิดขึ้นในแม่พิมพ์

6.4 การนำกราฟความดันมาใช้วิเคราะห์งานฉีด

ลักษณะกราฟความดันพลาสติกในแม่พิมพ์ฉีดสามารถบ่งบอกได้ถึงคุณภาพของชิ้นงานฉีดที่กำลังจะออกมาจากแม่พิมพ์ หลังจากการเปิดแม่พิมพ์และกระทุ้งชิ้นงานออกจากแม่พิมพ์แล้ว ดังตัวอย่างเช่น การกำหนด การสับเปลี่ยนจากการฉีดสู่การย้ำที่ไม่เหมาะสม หรือการใช้ความดันย้ำค่าแรกต่ำกว่าความดันฉีดมากเกินไป
ตัวอย่างกราฟความดันที่เกิดจากการสับเปลี่ยนจากการฉีดเข้าสู่การย้ำเร็วเกินไป (ใช้เวลาน้อยเกินไปในกรณีที่ใช้เวลาในการสับเปลี่ยน) หรือใช้ค่าตัวเลขระยะทางของจุดสับเปลี่ยนที่มากเกินไป (ในกรณีที่ใช้ระยะทางในการสับเปลี่ยน) ตามรูปที่ 6.3 ทั้งสองกรณีนี้จะทำให้ระยะทางและเนื้อพลาสติกเหลวในช่วงของจังหวะการฉีดมีค่าน้อยเกินไป กล่าวคือการปรับตั้งช่วงการฉีดที่มีการสับเปลี่ยนจากการฉีดเข้าสู่การย้ำ แล้วใส่การย้ำเพื่อทำให้พลาสติกเต็มแม่พิมพ์ อัดและรักษาความดันของพลาสติกในแม่พิมพ์ให้ลดลงอย่างสม่ำเสมอทันที โดยที่พลาสติกเหลวยังไหลเข้าไปไม่เต็มในแม่พิมพ์ จะทำให้ชิ้นงานมีโอกาสเกิดปัญหาต่าง ๆ ได้ เช่น ชิ้นงานอาจจะไม่เต็มแม่พิมพ์ เกิดรอยยุบ มีขนาดเล็กเกินไป มีความหนาแน่นไม่สม่ำเสมอกันตลอดทั้งชิ้นงาน มีความเครียดมากจนเกิดการ แตกร้าว
กราฟความดันที่เกิดจากการตั้งการสับเปลี่ยนจากการฉีดเข้าสู่การย้ำที่ไม่ถูกต้อง
รูปที่ 6.3 กราฟความดันที่เกิดจากการตั้งการสับเปลี่ยนจากการฉีดเข้าสู่การย้ำที่ไม่ถูกต้อง
กราฟความดันที่เกิดจากการตั้งค่าความดันย้ำค่าแรกต่ำกว่าความดันฉีดมากเกินไป
รูปที่ 6.4 กราฟความดันที่เกิดจากการตั้งค่าความดันย้ำค่าแรกต่ำกว่าความดันฉีดมากเกินไป
หรือตัวอย่างของกราฟที่มีการสับเปลี่ยนจากการฉีดเข้าสู่การย้ำที่ถูกต้อง คือพลาสติกไหลเข้าเต็มแม่พิมพ์พอดีในช่วงของการฉีด (เวลาในการเติมและการสับเปลี่ยนจากการฉีดเข้าสู่การย้ำเท่ากันพอดี) แต่ในการปรับตั้งเครื่องฉีด ใช้ความดันย้ำค่าแรกต่ำกว่าความดันของพลาสติกในแม่พิมพ์ที่เกิดขึ้นจากการฉีดมากเกินไป โดยเฉพาะค่าความดันฉีดตัวสุดท้าย ดังรูปที่ 6.4 ซึ่งจะทำให้ชิ้นงานมีโอกาสเกิดปัญหาได้ คือ ชิ้นงานมีน้ำหนักที่ไม่คงที่มากขึ้น ส่วนคุณภาพด้านอื่น ๆ จะอยูในเกณฑ์ที่ยอมรับได้ แต่ถ้ามีการตั้งเวลาที่ใช้ความดันย้ำตัวแรกนี้นาน ๆ กราฟที่ได้ และปัญหาที่เกิดขึ้นกับชิ้นงานอาจจะเป็นไปตามรูปที่ 6.3 ได้ด้วยเช่นกัน

6.5 การทดสอบหาค่า PVT และ PVT ไดอะแกรม

การทดสอบพลาสติกเพื่อหาค่าความสัมพันธ์ของความดัน (Pressure, P) ปริมาตรจำเพาะ (Speolfio Volume, V) และอุณหภูมิ (Temperature, T) จะเป็นการทดสอบเพื่อดูการเปลี่ยนแปลงของปริมาตรจำเพาะของพลาสติกเหลวภายใต้ความดันและอุณหภูมิที่เปลี่ยนแปลงไป ตามรูปที่ 6.5 แล้วนำผลการทดสอบที่ได้มาพล็อตเป็นกราฟที่เรียกว่า PVT ไดอะแกรม ดังตัวอย่างตามรูปที่ 6.6 (เป็น PVT ไดอะแกรมของ PS, Amorphous Thermoplastics) และรูปที่ 6.7 (เป็น PVT ไดอะแกรมของ POM, Semi–crystalline Thermoplastics)
หลักการทดสอบหาค่า PVT
รูปที่ 6.5 หลักการทดสอบหาค่า PVT
PVT ไดอะแกรมของ PS, AmorphouH Thormoplastics
รูปที่ 6.6 PVT ไดอะแกรมของ PS, AmorphouH Thormoplastics
PVT ไดอะแกรมของ POM, Semi–crystalline Thermoplastics
รูปที่ 6.7 PVT ไดอะแกรมของ POM, Semi–crystalline Thermoplastics

6.6 การศึกษาความเป็นไปของพลาสติกในแม่พิมพ์โดยใช้ PVT ไดอะแกรม

เราสามารถศึกษาและทำความเข้าใจความเป็นไปของพลาสติกในแม่พิมพ์ ตั้งแต่พลาสติกเหลวไหลเข้าแม่พิมพ์จนกระทั่งถูกปลดออกจากแม่พิมพ์และเย็นตัวลงเท่ากับอุณหภูมิห้องได้ง่ายขึ้นโดยการใช้ PVT ไดอะแกรม ช่วยอธิบายรายละเอียดของแต่ละขั้นตอนที่เกิดการเปลี่ยนแปลงกับตัววัสดุพลาสติก โดยเราต้องสังเกตจุดต่าง ๆ ที่เกิดการเปลี่ยนแปลงของกราฟความดันในแม่พิมพ์ รวมทั้งการเปลี่ยนแปลงของกราฟอุณหภูมิของพลาสติกในแม่พิมพ์ด้วย แล้วนำค่าที่สังเกตได้หรือค่าที่สนใจมาพล็อตลงบน PVT ไดอะแกรม เพื่ออ่านค่าปริมาตรจำเพาะที่เปลี่ยนแปลงไป และวิเคราะห์ความเป็นไปของพลาสติกในแม่พิมพ์ในช่วงเวลาของกระบวนการฉีด ดังตัวอย่างขั้นตอนต่อไปนี้ (ตามรูปที่ 6.8)
0 -->1 เป็นช่วงการเติมพลาสติกเหลวเข้าจนเต็มแม่พิมพ์ โดยเริ่มต้นตั้งแต่เวลาที่สกรูเริ่มเคลื่อนที่ขับดันพลาสติกเหลวเข้าแม่พิมพ์ ถ้ามีการติดตั้งอุปกรณ์ตรวจวัดความดันและอุณหภูมิพลาสติกเหลวเอาไว้ในแม่พิมพ์ ทั้งที่บริเวณใกล้ทางน้ำพลาสติกเข้า (Gate) และจุดสุดท้ายของการไหลของพลาสติกเหลว จะพบว่าความดันจะเพิ่มขึ้นจาก 1 บาร์ ไปเรื่อย ๆ จนพลาสติกเหลวเต็มแม่พิมพ์ ค่าความดันสูงสุดในช่วงนี้จะมากขึ้นถ้าใช้ความเร็วในการฉีดสูงขึ้น ส่วนอุณหภูมิพลาสติกเหลวที่อยู่ในแม่พิมพ์ที่ตรวจวัดได้จะยังมีค่าสูงอยู่ เนื่องจากพลาสติกเพิ่งจะเริ่มไหลเข้าแม่พิมพ์
1-->2 เป็นช่วงการอัดหลังจากพลาสติกเหลวถูกเติมจนเต็มแม่พิมพ์แล้ว และการขับดันพลาสติกเหลวเข้าแม่พิมพ์ยังเกิดขึ้นอยู่ การอัดตัวของพลาสติกจะเกิดขึ้นอย่างทันทีทันใด ความดันที่สูงที่สุดของพลาสติกในแม่พิมพ์จะเกิดขึ้นในช่วงนี้ ความหนาแน่นฃองพลาสติกในแม่พิมพ์ในช่วงการอัดจะมีค่ามากที่สุด ซึ่งช่วงการอัดนี้จะเกิดขึ้นในช่วงการฉีดทั้งหมดในช่วงการย้ำทั้งหมด หรือเกิดขึ้นทั้งในช่วงการฉีดและการย้ำก็ได้ แต่ที่พบได้มากในทางการปฏิบัติจริงจะเกิดขึ้นในช่วงการย้ำทั้งหมดเป็นส่วนใหญ่ รองลงมาคือเกิดขึ้นทั้งในช่วงการฉีดและการย้ำ
2-->3 เป็นช่วงการรักษาความดันของพลาสติกในแม่พิมพ์ให้เกิดได้นาน ๆ ซึ่งการรักษาความดันนี้จะไม่เกิดขึ้นในช่วงของการฉีดทั้งหมด แต่จะเกิดขึ้นได้ทั้งในช่วงของการฉีดและการย้ำ หรือเกิดขึ้นในช่วงของการย้ำทั้งหมด และในทางการปฏิบัติจริงจะเกิดขึ้นในช่วงของการย้ำทั้งหมดเป็นส่วนใหญ่ การรักษาความดันนี้จะเป็นการป้อนพลาสติกเข้าแม่พิมพ์ เพื่อช่วยชดเชยการหดตัวของพลาสติกที่เกิดจากการเย็นตัวเนื่องจากการระบายความร้อนของพลาสติกไปยังแม่พิมพ์ เวลาในช่วงนี้จะนานมาก ทำให้อุณหภูมิของพลาสติกในแม่พิมพ์ลดลงได้มาก แต่ความหนาแน่นของพลาสติกจะต้องคงที่ตลอดเวลาในช่วงนี้
3-->4 เป็นช่วงที่ความดันลดลงอย่างสม่ำเสมอ เมื่อเนื้อพลาสติกบริเวณใกล้ทางน้ำพลาสติกเข้าเริ่มเย็นตัวลง การไหลของพลาสติกเข้าแม่พิมพ์จะลดน้อยลงจนกระทั่งหยุดไหล ดังนั้นความดันของพลาสติกในแม่พิมพ์จะลดลงเท่ากับความดันบรรยากาศคือ 1 บาร์ โดยลดลงตามอุณหภูมิของพลาสติกที่ลดลง ในขณะที่ปริมาตรจำเพาะของพลาสติกยังคงที่ ช่วงเวลาที่ความดันลดลงนี้จะเกิดขึ้นในช่วงการย้ำช่วงท้าย ๆ ดังนั้นจึงไม่ควรใช้ค่าความดันย้ำสูงในช่วงนี้ โดยควรใช้ความดันย้ำปานกลางถึงต่ำ เพื่อป้องกันความเครียดที่อาจจะเกิดขึ้นได้กับชิ้นงาน โดยเฉพาะที่บริเวณทางน้ำพลาสติกเข้า และเพื่อเป็นการลดการอัดแน่นของพลาสติกในปลอกนำฉีด (Sprue Bush) และทางน้ำพลาสติกวิ่ง (Runner) เพื่อไม่ให้สปรูเกต (Sprue Gate) และทางน้ำพลาสติกวิ่งติดหรือ ขาดคาอยู่ในแม่พิมพ์
4-->5 เป็นช่วงของการหล่อเย็นจนกระทั่งเปิดแม่พิมพ์และกระทุ้งชิ้นงานออกจากแม่พิมพ์ เมื่อสิ้นสุด เวลาในการย้ำที่ตำแหน่งที่ 4 คือไม่มีการเติมเนื้อพลาสติกเข้าแม่พิมพ์แล้วและเป็นการเริ่มต้นของช่วงเวลากาวหล่อเย็น อุณหภูมิของพลาสติกในแม่พิมพ์จะเริ่มลดลงพร้อมกับมีปริมาตรจำเพาะที่ลดลง ในขณะที่ความดันยังคงที่เท่ากับความดันบรรยากาศคือ 1 บาร์ ในช่วงเวลาการหล่อเย็นนี้ พลาสติกจะเกิดการหดตัวอยู่ในแม่พิมพ์ และนับได้ว่าพลาสติกกำลังเริ่มต้นกลายเป็นชิ้นงานอย่างสมบูรณ์นั่นเอง
5-->6 เป็นช่วงของการหล่อเย็นชิ้นงานที่ถูกกระทุ้งออกจากแม่พิมพ์แล้ว จนกระทั่งมีอุณหภูมิเท่ากับอุณหภูมิห้อง อุณหภูมิชิ้นงานพลาสติกจะลดลงพร้อมกับปริมาตรจำเพาะที่ลดลงอย่างต่อเนื่อง ชิ้นงานกำลังหดตัว ภายในอากาศโดยไม่มีแม่พิมพ์เป็นตัวบังคับ ดังนั้นการบิดเบี้ยวหรือการเสียรูปทรงของชิ้นงานจะเกิดขึ้นได้มากในช่วงเวลานี้
สรุปว่า การหดตัวของชิ้นงานพลาสติกจะเกิดขึ้นในช่วงเวลา 4  6 ซึ่งเป็นการหดตัวในการทำงานหรือ การหดตัวครั้งแรกนั่นเอง ดังนั้นจึงสามารถหาการหดตัวของพลาสติกได้จากสูตรต่าง ๆ ดังนี้
สูตรการหาการหดตัวของพลาสติก
ความเป็นไปของความดันพลาสติกในแม่พิมพ์โดยใช้ร่วมกับ PVT ไดอะแกรม
รูปที่ 6.8 ความเป็นไปของความดันพลาสติกในแม่พิมพ์โดยใช้ร่วมกับ PVT ไดอะแกรม
0 – 1 ช่วงเติมพลาสติกเหลวเต็มแม่พิมพ์
1 – 2 ช่วงพลาสติกถูกอัดตัวในแม่พิมพ์
2 – 3 ช่วงรักษาความดันพลาสติกในแม่พิมพ์
3 – 4 ช่วงที่ความดันของพลาสติกลดลง
4 – 5 ช่วงเวลาในการหล่อเย็นพลาสติกจนกระทั่งเปิดแม่พิมพ์
5 – 6 ช่วงที่ชิ้นงานพลาสติกเย็นตัวลงเท่ากับอุณหภูมิห้อง
    หน้า   1   2    
CONTACT
169/47 ถ.พุทธมณฑลสาย 4 ต.กระทุ่มล้ม  อ.สามพราน จ.นครปฐม 73220
086-070-0007
ananindustry@gmail.com
https://www.ananindustry.com
WORKING DAYS/HOURS
วันจันทร์ - วันเสาร์
8.00 - 17.00 น.
Copyright © 2008 Anan Industry Company Limited. All Rights Reserved