การเตรียมการก่อนสร้างและตอนสร้างสถานีชาร์จรถยนต์ไฟฟ้า EV Charging Station

การติดตั้งสถานีชาร์จประจุรถยนต์ไฟฟ้า EV Charger Station

การเตรียมการก่อนการติดตั้งสถานีชาร์จประจุรถยนต์ไฟฟ้า

การดำเนินการก่อนการติดตั้งสถานีชาร์จประจุรถยนต์ไฟฟ้า EV Charging Station ผู้ประกอบการควรพิจารณาเลือกพื้นที่เพื่อติดตั้งสถานีชาร์จประจุรถยนต์ไฟฟ้าบริเวณพื้นที่ทั่วไป และเขตสถานีบริการเชื้อเพลิง โดยมีรายละเอียดดังนี้

>> การติดตั้งสถานีชาร์จประจุไฟฟ้าในบริเวณพื้นที่ทั่วไป

กำหนดขอบเขตพื้นที่ในการติดตั้งสถานีชาร์จประจุรถยนต์ไฟฟ้า EV Charger Station ให้ชัดเจน และติดตั้งเครื่องชาร์จรถยนต์ไฟฟ้า รวมทั้งอุปกรณ์ตามมาตรฐานของสำนักงานมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม (สมอ.) และติดตั้งระบบความปลอดภัยตามมาตรฐานของวิศวกรรมสถานแห่งประเทศไทย (วสท.)
• การเลือกพื้นที่สำหรับการติดตั้งสถานีชาร์จประจุไฟฟ้าสำหรับรถยนต์ไฟฟ้า
1) เลือกทำเลพื้นที่ในการติดตั้งสถานีชาร์จประจุรถยนต์ไฟฟ้า ให้สอดคล้องตามที่กฎหมายกำหนดโดยมีความเหมาะสมและสะดวกในการเข้าใช้บริการ
2) พื้นที่สำหรับติดตั้งสถานีชาร์จประจุรถยนต์ไฟฟ้า ควรมีป้ายสัญลักษณ์แสดงสถานีชาร์จประจุรถยนต์ไฟฟ้า อัตราการให้บริการ รวมทั้งป้ายแสดงรายละเอียดประเภทหัวจ่ายให้ชัดเจน
3) พื้นที่รองรับการจอดรถสำหรับการชาร์จประจุไฟฟ้า ต้องมีขนาดพื้นที่กว้างและเพียงพอต่อปริมาณหัวจ่ายที่ติดตั้งในสถานีชาร์จ และให้เป็นไปตามมาตรฐานที่กฎหมายกำหนด
4) พื้นที่ของช่องจอดรถยนต์ไฟฟ้า ควรตีเส้นจราจรให้ชัดเจนและใช้สีที่ถูกต้องตามกฎหมายกำหนด
5) พื้นที่ติดตั้งสถานีชาร์จประจุรถยนต์ไฟฟ้าควรอยู่ในพื้นที่ร่มหรือในอาคาร แต่หากมีการติดตั้งภายนอกอาคารควรมีหลังคาป้องกันฝน หรือความร้อนจากแสงแดดที่หัวจ่ายประจุรถยนต์ไฟฟ้าหรือเป็นไปตามกฎหมายที่ใช้บังคับใช้พื้นที่นั้นๆ
6) เตรียมพื้นที่สำหรับติดตั้งตู้ควบคุมไฟฟ้า (Main Distribution Board, MBD) หัวจ่ายประจุไฟฟ้า โดยให้เป็นพื้นที่ที่สะดวกต่อการเข้าซ่อมบำรุง และตรวจสอบตามข้อแนะนำของผลิตภัณฑ์นั้นๆ
7) อุปกรณ์ที่ใช้ในสถานีชาร์จประจุรถยนต์ไฟฟ้าให้เป็นไปตามมาตรฐาน สมอ. หรือกฎหมายอื่นๆที่เกี่ยวข้อง

>> การติดตั้งสถานีชาร์จประจุไฟฟ้าที่อยู่ในเขตสถานีบริการเชื้อเพลิง

เขตสถานีบริการเชื้อเพลิง หมายถึง เขตที่แสดงถึงบริเวณของสถานีบริการเชื้อเพลิงตามที่กำหนดไว้ในแบบแผ่นผังสถานที่ตั้งของสถานีบริการเชื้อเพลิง ทั้งน้ำมันและก๊าซ เพื่อให้บริการหรือจำหน่ายน้ำมัน/ก๊าซแก่รถยนต์รวมถึงอาคารบริการ สิ่งปลูกสร้างต่างๆตลอดจนบริเวณสถานที่ดังกล่าวเพื่อใช้ในการนี้ ทั้งเขตสถานีบริการเชื้อเพลิงเป็นไปตามแบบที่ขออนุญาตไว้กับกรมธุรกิจพลังงาน
ต้องปฏิบัติตามระเบียบ/ประกาศ/ข้อกำหนดของกรมธุรกิจพลังงาน ดังนี้
• ประกาศกรมธุรกิจพลังงาน เรื่อง การกำหนดมาตรฐานขั้นต่ำของระบบไฟฟ้า เครื่องใช้ไฟฟ้าและอุปกรณ์ไฟฟ้าที่ใช้ในบริเวณอันตรายของสถานที่บรรจุก๊าซและสถานที่ใช้ก๊าซ
• ประกาศกรมธุรกิจพลังงาน เรื่อง การกำหนดประเภทของบริเวณอันตรายและระยะห่างของบริเวณอันตรายของสถานที่บรรจุก๊าซและสถานที่เก็บก๊าซแต่ละประเภทที่จะต้องใช้ระบบไฟฟ้า เครื่องใช้ไฟฟ้า และอุปกรณ์ไฟฟ้าให้ได้มาตรฐานขั้นต่ำ
• ประกาศกรมธุรกิจพลังงาน เรื่อง หลักเกณฑ์และมาตรฐานความปลอดภัยของสถานีบริการก๊าซธรรมชาติ ที่กรมธุรกิจพลังงานมีอำนาจหน้าที่รับผิดชอบ พ.ศ 2546
• ประกาศกรมธุรกิจพลังงาน เรื่อง การกำหนดบริเวณอันตรายและมาตรฐานขั้นต่ำของระบบไฟฟ้าภายในสถานีบริการก๊าซธรรมชาติ
>> การติดตั้งสถานีชาร์จประจุรถยนต์ไฟฟ้าอยู่ใกล้ หรืออยู่ติดกับเขตสถานีบริการเชื้อเพลิง ที่อยู่นอกเขตพื้นที่ความรับผิดชอบของกรมธุรกิจพลังงาน ผู้ประกอบการจะต้องปฏิบัติตามข้อกำหนดของสำนักงาน กกพ. แทน

การก่อสร้างสถานีชาร์จประจุรถยนต์ไฟฟ้า

การติดตั้งสถานีชาร์จประจุรถยนต์ไฟฟ้า EV Charging Station ให้เป็นไปตามข้อกำหนดและกฎหมายที่เกี่ยวข้อง โดยผู้ประกอบการต้องดำเนินการระหว่างการก่อสร้างดังนี้
1) ผู้ประกอบการยื่นขอรับใบอนุญาตติดตั้งสถานีชาร์จประจุรถยนต์ไฟฟ้า หรือการขอจดแจ้งยกเว้นการขออนุญาตตามประเภทขนาดของการติดตั้งจำหน่ายไฟฟ้าตามระเบียบ กกพ. ว่าด้วยการขอรับใบอนุญาต หรือการจดแจ้งยกเว้นไม่ต้องรับใบอนุญาตการประกอบกิจการหลังงาน
2) สำนักงาน กกพ. ตรวจสอบเอกสารการขออนุญาต
3) สำนักงาน กกพ. ลงตรวจพื้นที่การติดตั้งสถานีชาร์จประจุรถยนต์ไฟฟ้า
4) กกพ. / สำนักงาน กกพ. ให้อนุญาตการติดตั้งสถานีชาร์จประจุรถยนต์ไฟฟ้า
5) ผู้ประกอบการได้รับใบอนุญาต
6) ผู้ประกอบการดำเนินการติดตั้งสถานีชาร์จประจุรถยนต์ไฟฟ้าโดยมีอุปกรณ์และการติดตั้งดำเนินการตามมาตรฐานของ สมอ. หรือ วสท. หรือ มาตรฐานอื่นๆ ที่เกี่ยวข้อง
7) ผู้ประกอบการแจ้งขอการเชื่อมต่อกับระบบโครงข่ายไฟฟ้ากับการไฟฟ้าในพื้นที่

>> ข้อเสนอแนะในการก่อสร้างและติดตั้งสถานีชาร์จประจุรถยนต์ไฟฟ้า มีรายละเอียดดังนี้

ก. ความต้องการทั่วไปของสถานีชาร์จประจุรถยนตืไฟฟ้า
• บริเวณที่จะประกอบกิจการสถานีชาร์จประจุรถยนต์ไฟฟ้า ต้องมีพื้นที่ให้จำนวนรถจอดไม่ต่ำกว่าจำนวนเครื่องชาร์จรถยนต์ไฟฟ้าที่ติดตั้ง
• มีพื้นที่ติดตั้งตู้ควบคุมไฟฟ้า เครื่องชาร์จประจุรถยนต์ไฟฟ้า ควรเป็นพื้นที่ที่สะดวกต่อการเข้าซ่อมบำรุง และตรวจสอบซึ่งเป็นไปตามข้อแนะนำของผลิตภัณฑ์เครื่องชาร์จรถยนต์ไฟฟ้านั้นๆ
• สถานีชาร์จประจุรถยนต์ไฟฟ้าควรติดกับถนนที่สามารถเข้าออกได้สะดวก
• สถานีชาร์จประจุรถยนต์ไฟฟ้าควรสร้างในพื้นที่ร่มหรือภายในอาคาร แต่หากมีการติดตั้งภายนอกตัวอาคารควรมีหลังคาเพื่อป้องกันฝน และความร้อนจากแสงแดดไปที่เครื่องชาร์จประจุรถยนต์ไฟฟ้าอย่างเหมาะสม
• พื้นที่ของช่องจอดรถ 1 ช่องควรมีขนาดไม่ต่ำกว่า 2.4 x 5.0 เมตร หรือเป็นไปตามกฎหมายกำหนดและพื้นที่แต่ละช่องควรมีการตีเส้นจราจรให้ชัดเจนโดยใช้สีที่ถูกต้องตามกฎหมาย
• ควรจัดทำสัญลักษณ์สถานีชาร์จประจุรถยนต์ไฟฟ้า และสัญลักษณ์บริเวณที่ติดตั้งเครื่องชาร์จประจุรถยนต์ไฟฟ้าทุกเครื่อง รวมถึงสัญลักษณ์แสดงช่องจอดรถยนต์ไฟฟ้าและมีป้ายสัญลักษณ์แสดงสถานีชาร์จประจุรถยนต์ไฟฟ้า ซึ่งสามารถมองเห็นได้ชัดเจนในเวลากลางวันและกลางคืน
• เตรียมระบบไฟฟ้า ขนาดแรงดันไฟฟ้า 380/416 โวลต์ 3เฟส เพื่อรองรับเครื่องชาร์จประจุรถยนต์ไฟฟ้าโดยมีเงื่อนไขดังนี้
1) เครื่องชาร์จประจุรถยนต์ไฟฟ้าแบบธรรมดา (Normal Charger) ต้องมีระบบไฟฟ้ารองรับได้ไม่ต่ำกว่า 45 kVA ต่อ 1 หัวจ่าย
2) เครื่องชาร์จประจุรถยนต์ไฟฟ้าแบบเร็ว (Quick Charger) ต้องมีระบบไฟฟ้ารองรับไม่ต่ำกว่า 100 kVA ต่อ 1หัวจ่ายเพื่อชาร์จประจุไฟฟ้า
ข. การติดตั้งระบบส่งไฟฟ้า (Main Distribution Board)
• การติดตั้งสายไฟฟ้าและช่องทางเดินสายไฟ
1) สายไฟประธานควรมีขนาดรองรับกำลังไฟฟ้าที่จ่ายให้กับเครื่องชาร์จประจุรถยนต์ไฟฟ้า
2) ควรเลือกสายไฟฟ้าชนิดทนแรงดันได้ไม่ต่ำกว่า 1,000 โวลต์ (CV type)
3) ขนาดของสายไฟฟ้าให้อ้างอิงตามมาตรฐานตารางสายไฟฟ้าของวิศวกรรมสถานแห่งประเทศไทย
4) สายไฟฟ้าทุกประเภทควรทำการติดตั้งในช่องเดินสายไฟฟ้าประเภทท่อหรือรางที่มีการติดตั้งอย่างมิดชิดและปลอดภัยต่อผู้ใช้งาน โดยให้เป็นไปตามมาตรฐานการติดตั้งอุปกรณ์ไฟฟ้าของวิศวกรรมสถานแห่งประเทศไทย
• การติดตั้งตู้ MDB รับไฟฟ้าจากระบบ
1) ควรมีอุปกรณ์ตัดวงจรอัตโนมัติขณะเกิดการลัดวงจร (Mold Case Circuit Breaker, MMCB) ซึ่งมีค่าทนการลัดวงจรเป็นไปตามมาตรฐานของการออกแบบ
2) ควรมีอุปกรณ์ตัดไฟรั่ว (Residual Circuit Device, RCD) ของวงจรย่อยชนิด 4 ขั้ว พร้อมวงจรป้องกันกระแสรั่วไหลที่จ่ายไปยังเครื่องชาร์จประจุรถยนต์ไฟฟ้า
3) ควรติดตั้งอุปกรณ์เพื่อแสดงกระแสไฟฟ้าที่จ่ายมายังตู้ MDB ชนิดหลอดไฟฟ้าหรือมิเตอร์แสดงแรงดันไฟฟ้าขาเข้า (Phase Indicator Device)
4) ควรติดตั้งวงจรป้องกันระบบแรงดันตก ขาด และ เกิน (Phase Protection Device) เพื่อป้องกันเครื่องชาร์จรถยนต์ไฟฟ้า
5) ควรติดตั้งอุปกรณ์กับดักฟ้าผ่า (Surge Protection Device) ในตู้ MDB ยกเว้นในกรณีการติดตั้งอุปกรณ์ดังกล่าวอยู่แล้วในเครื่องชาร์จรถยนต์ไฟฟ้า
ค. คุณสมบัติและมาตรฐานของเครื่องชาร์จประจุไฟฟ้า EV Charger
• ควรมี Emergency Stop อย่างน้อย 1 จุดในบริเวณที่สังเกตได้ง่าย
• ควรมีมิเตอร์วัดพลังงานไฟฟ้า และสามารถส่งสัญญาณข้อมูลผ่านระบบ OCPP (Open Charge Point Protocol)
รูปแบบเครื่องชาร์จประจุรถยนต์ไฟฟ้าต้องสอดรับกับมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรม หากคุณสมบัติมาตรฐาน EV Charger เครื่องชาร์จประจุรถยนต์ไฟฟ้ามีรายละเอียดขัดแย้ง ให้ยึดตามมาตรฐานผลิตภัณฑ์อุตสาหกรรมเป็นหลัก โดยข้อเสนอแนะของคุณสมบัติ เครื่องชาร์จรถยนต์ไฟฟ้า AC Charger และ เครื่องชาร์จรถยนต์ไฟฟ้า DC Charger แสดงดังตารางที่ 1 และ 2
คุณสมบัติของเครื่องชาร์จไฟฟ้า EV Charger
ตามมาตรฐานแบบ AC Charger
1) การเชื่อมโยงสายไฟ
แรงดันไฟฟ้า 380-416 โวลต์, ความถี่ 50 เฮิรตซ์, 3 เฟส รวมสาย Neutral และ สายดิน
2) การอัดประจุเป็นไปตามมาตรฐาน
Mode 2 และ 3, IEC 61851-1, และ IEC 61851-22
3) Plug และ Socket
มาตรฐาน IEC 62196-1, IEC 62196-2
4) กำลังไฟฟ้าด้านออกสูงสุด
ตามข้อกำหนดของ กฟผ. กฟน. และ กฟภ.
5) แรงดันไฟฟ้าสูงสุด
380-416 โวลต์ (Vac)
6) กระแสไฟฟ้าสูงสุด
ไม่เกิน 32 แอมแปร์
7) ประสิทธิภาพ
-
8) ระดับความดังของเสียงขณะทำงาน
-
9) การสูญเสียจากการไม่มีโหลด
-
10) Index protection
ไม่น้อยกว่า IP54 (IEC 60529)
11) User dialoque
-
12) Mechanical Impact
IK08 (IEC 62262)
13) อุณหภูมิ ณ เวลาทำงาน
0℃ ถึง 50℃
14) การเชื่อมโยงสื่อสาร
สามารถส่งข้อมูลการอัดประจุผ่านระบบ OCPP
15) การเชื่อมโยงเครือข่าย
TCP/IP
16) Gateway
Modem หรือ Wifi หรือ LAN หรือ Mobile Network
ตารางที่ 1 คุณสมบัติและมาตรฐานของเครื่องชาร์จประจุรถยนต์ไฟฟ้า AC Charger
คุณสมบัติของเครื่องชาร์จไฟฟ้า EV Charger
ตามมาตรฐานแบบ DC Charger
1) การเชื่อมโยงสายไฟ
แรงดันไฟฟ้า 380-416 โวลต์, ความถี่ 50 เฮิรตซ์, 3 เฟส รวมสาย Neutral และ สายดิน
2) การอัดประจุเป็นไปตามมาตรฐาน
Mode 4, IEC 61851-1, และ IEC 61851-23, IEC 61851-24
3) Plug และ Socket
มาตรฐาน IEC 62196-1, IEC 62196-3
4) กำลังไฟฟ้าด้านออกสูงสุด
ตามข้อกำหนดของ กฟผ. กฟน. และ กฟภ.
5) แรงดันไฟฟ้าสูงสุด
ตามข้อกำหนดของ กฟผ. กฟน. และ กฟภ.
6) กระแสไฟฟ้าสูงสุด
ตามข้อกำหนดของ กฟผ. กฟน. และ กฟภ.
7) ประสิทธิภาพ
ไม่น้อยกว่า 92%
8) ระดับความดังของเสียงขณะทำงาน
ไม่เกิน 65 เดซิเบล ที่ระยะ 4.8 เมตร
9) การสูญเสียจากการไม่มีโหลด
ไม่เกิน 250 วัตต์
10) Index protection
ไม่น้อยกว่า IP54 (IEC 60529)
11) User dialoque
Backlit LCD graphic screen หรือ touch screen
12) Mechanical Impact
IK08 (IEC 62262)
13) อุณหภูมิ ณ เวลาทำงาน
0℃ ถึง 50℃
14) การเชื่อมโยงสื่อสาร
สามารถส่งข้อมูลการอัดประจุผ่านระบบ OCPP
15) การเชื่อมโยงเครือข่าย
TCP/IP
16) Gateway
Modem หรือ Wifi หรือ LAN หรือ Mobile Network
ตารางที่ 2 คุณสมบัติและมาตรฐานของเครื่องชาร์จประจุรถยนต์ไฟฟ้า DC Charger
ง. ข้อกำหนดอุปกรณ์มาตรฐานไฟฟ้าและความปลอดภัยของการไฟฟ้านครหลวง (กฟน.) และการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (กฟก.)
โดยการไฟฟ้านครหลวงจะรับผิดชอบพื้นที่ดูแลในเขตกรุงเทพมหานคร จังหวัดนนทบุรี และจังหวัดสมุทรปราการ ส่วนการไฟฟ้าส่วนภูมิภาคจะรับผิดชอบดูแลพื้นที่ในเขตจังหวัดอื่นๆ โดยข้อกำหนดของ กฟน. และ กฟก. จะครอบคลุมอุปกรณ์การชาร์จประจุรถยนต์ไฟฟ้าในโหมด 2, 3 และ 4 เท่านั้น และมีข้อกำหนดให้เครื่องชาร์จประจุรถยนต์ไฟฟ้าจะต้องมีการติดตั้งสายดินแบบ TT หรือ TN-S (ที่มีการต่อลงดิน) และเครื่องตัดไฟรั่ว (RCD) ต้องเป็น Type B พิกัด ln 30 mA สำหรับการชาร์จประจุโหมด 2 และ Type B สำหรับการชาร์จประจุโหมด 3 และ 4 และมีขนาดพิกัดกระแสไม่น้อยกว่าพิกัดของเครื่องป้องกันกระแสเกิน
• หมายเหตุ อนุญาตให้ใช้ RCD type A ที่มีอุปกรณ์ตัดวงจรไฟฟ้าได้แทน RCD type B หามี DC fault current เกิน 6 mA
• ข้อยกเว้น ละเว้นการติดตั้ง RCD ได้ ในกรณีที่เครื่องชาร์จประจุไฟฟ้ารถยนต์มีการแยกกันทางไฟฟ้าเช่น ใช้หม้อแปลงแยกวงจร (Isolating Transformer)
• ทดสอบการทำงานของเครื่องตัดไฟรั่ว (RCD) ทุกระยะ 3 เดือน
นอกจากนี้ มีการกำหนดมาตรฐานอ้างอิงสำหรับอุปกรณ์ที่เกี่ยวข้องเพิ่มเติม ดังตารางที่ 3
รายการ
มาตรฐานอ้างอิง
เครื่องอัดประจุไฟฟ้าโหมด 3
IEC 61851-1 และ IEC 61851-22
เครื่องอัดประจุไฟฟ้าโหมด 4
IEC 61851-1, IEC 61851-23 และ IEC 61851-24
RCD TYPE A
IEC 61008, IEC 061009, มอก.909, มอก.2525
RCD TYPE B
IEC 62423
สวิตซ์ควบคุมฉุกเฉิน (Emergency control switch)
UL98, IEC 60947-1, IEC 60947-3
ตารางที่ 3 มาตรฐานอ้างอิงสำหรับอุปกรณ์ที่เกี่ยวข้องกับ EV Charger
ที่มา: กกพ. (ERC)

คู่มือประกอบกิจการสถานีชาร์จรถยนต์ไฟฟ้า

CONTACT
169/47 ถ.พุทธมณฑลสาย 4 ต.กระทุ่มล้ม  อ.สามพราน จ.นครปฐม 73220
086-070-0007
ananindustry@gmail.com
https://www.ananindustry.com
WORKING DAYS/HOURS
วันจันทร์ - วันเสาร์
8.00 - 17.00 น.
Copyright © 2008 Anan Industry Company Limited. All Rights Reserved