การเตรียมแปลงนาเพื่อใช้เครื่องดำนา
วิธีการเพาะกล้าข้าวดำนาอย่างมืออาชีพเพิ่มรายได้เพิ่มผลผลิต
    หน้า   1   2   3   4   5   

วิธีการใช้เครื่องดำนา : การเตรียมแปลงนาเพื่อใช้เครื่องดำนา

1. ไถ – คราด ดินในแปลงตามปกติเหมือนกับแปลงนาที่เตรียมไว้ใช้คนปักดำ
2. หลังจากไถ – คราด เสร็จแล้ว ต้องพักแปลงไว้ก่อน โดยขังน้ำทิ้งไว้ในแปลงนา 3 – 5 วัน
(ขึ้นอยู่กับลักษณะของดิน) เพื่อให้ดินเลนในแปลงนาตกตะกอนก่อน แล้วจึงจะใช้เครื่องดำนาได้ เพราะถ้า
ดินเลนในแปลงนายังเหลว จะไม่มีแรงยึดต้นกล้า ต้นกล้าที่เครื่องปักดำลงไปแล้วจึงล้มได้ง่าย และดินเลน
ยังจะถูกสกีเบียดไหลไปทับต้นกล้าในขณะที่เครื่องดำนาทำงานในแปลงด้วย
3. แปลงที่เป็นดินเหนียวจะต้องพักแปลงไว้เป็นระยะเวลานานกว่าแปลงที่เป็นดินทราย
4. ขณะที่ใช้เครื่องดำนาระดับน้ำในแปลงนาต้องสูงประมาณ 5 เซนติเมตร หรือต้องมีระดับต่ำ
กว่ายอดของต้นกล้าที่ปักดำลงดินแล้วประมาณครึ่งหนึ่งของความสูงของต้นกล้า

วิธีการเตรียมเครื่องดำนาในแปลงปักดำ

1. ตอนเช้าในวันที่จะใช้เครื่องดำนา ให้ระบายน้ำออกจากแปลงจนเหลือระดับน้ำในแปลงสูงจาก
ผิวดินเฉลี่ยประมาณ 5 เซนติเมตร(ประมาณหนึ่งฝ่ามือด้านนอน)น้ำในแปลงจะช่วยทำให้เครื่องดำนา
ทำงานได้อย่างมีประสิทธิภาพ และต้นกล้าที่ปักดำลงดินไปแล้วไม่โศกหรือเหี่ยว แต่ถ้าระดับน้ำในแปลงสูง
เกินไป จะทำให้ต้นกล้าจมน้ำหรือหลุดลอยเพราะลูกคลื่นที่เกิดจากการเคลื่อนที่ของเครื่องดำนา (อย่าใช้
เครื่องดำนาในแปลงที่มีดินแห้ง ๆ เด็ดขาด เพราะเครื่องดำนาจะเสียหาย)
2. ขับเคลื่อนเครื่องดำนาลงไปในแปลง ตั้งเครื่องให้เหมาะสมกับสภาพพื้นที่ และจอดรออยู่ในจุด
ที่จะเริ่มปักดำต้นกล้า เลื่อนคันบังคับควบคุมระบบส่งกำลังการขับเคลื่อนให้อยู่ในตำแหน่งหยุดส่งกำลัง
3. ปรับความลึกในการปักดำต้นกล้า ปรับระยะห่างระหว่างกอของต้นกล้าในแถวเดียวกัน และ
ปรับจำนวนต้นต่อกอ ตามต้องการให้เรียบร้อยก่อน
4. นำแผ่นกล้าใส่ลงไปในแผงใส่กล้า พร้อมวางกล้าสำรองในภาชนะที่จัดไว้

การปรับระยะห่างระหว่างกอในแถวเดียวกัน การปรับจำนวนต้นกล้าแต่ละกอที่ปักดำลงดิน
และจำนวนแผ่นกล้าที่ใช้ดำนาต่อพื้นที่

เครื่องดำนามีระยะห่างระหว่างแถวปักดำคงที่ 30 เซนติเมตร แต่ระยะห่างระหว่างกอในแถวเดียวกันสามารถปรับเปลี่ยนได้หลายระยะขึ้นอยู่กับการออกแบบของบริษัทผู้ ผลิต เช่น 10, 12, 14 เซนติเมตร (ตัวอย่างตามรูปที่ 01) จำนวนแผ่นกล้าสำหรับใช้ดำนาต่อพื้นที่มีปัจจัยที่เกี่ยวข้องหลายอย่างกล่าวคือ ถ้าเกษตรกรใช้ระยะห่างระหว่างกอแคบหรือสั้น จะใช้จำนวนแผ่นกล้ามากกว่าการใช้ระยะห่างระหว่างกอที่ห่างหรือยาวกว่าในทำนองเดียวกันถ้าเกษตรกรปักดำต้นกล้าในแต่ละกอจำนวนมากจะต้อง
ใช้แผ่นกล้าจำนวนมากกว่าการปักดำต้นกล้าต่อกอจำนวนน้อยกว่า ดังนั้นระยะห่างระหว่างกอ 10เซนติเมตร จะใช้ต้นกล้ามากกว่าระยะ 12 และ 14  เซนติเมตร ตามลำดับนอกจากนี้เครื่องดำนายังมีอุปกรณ์ควบคุมอัตราการป้อนกล้าด้วย (ตัวอย่างตามรูปที่ 2) อุปกรณ์ดังกล่าวจะปรับส้อมดำนาให้จับต้นกล้าปักดำลงดินในแต่ละกอจำนวนมากหรือน้อยต้นตามต้องการ โดยส้อมจะฉีกดินที่มีต้นกล้าขึ้นอยู่ออกเป็นชิ้นแล้วนำไปปักดำลงดิน ถ้าส้อมฉีกดินเป็นชิ้นใหญ่ก็จะใช้แผ่นกล้าหมดเร็วทำให้ดำนาได้พื้นที่น้อย แต่ถ้าส้อมฉีกดินเป็นชิ้นเล็กก็จะใช้แผ่นกล้าหมดช้าดำนาได้พื้นที่มากขึ้น ดังนั้นจำนวนแผ่นกล้าที่ใช้ดำนาต่อพื้นที่จึงขึ้นอยู่กับความสัมพันธ์ของปัจจัยทั้งสองอย่างนอกจากนี้ความหนาแน่นของต้นกล้าต่อพื้นที่บนแผ่นกล้ายังมีผลต่อจำนวนแผ่นกล้าที่ต้องใช้ต่อพื้นที่ด้วยกล่าวคือ ถ้าแผ่นกล้าไม่สมบูรณ์ โดยมีจำนวนต้นกล้าต่อพื้นที่บนแผ่นกล้าน้อย แต่เกษตรกรต้องการจำนวนต้นกล้าปักดำลงดินในแต่ละกอมากก็จำเป็นต้องปรับส้อมดำนาให้ส้อมจับฉีกดินที่มีต้นกล้าขึ้นอยู่เป็นชิ้นใหญ่ ก็จะใช้แผ่นกล้าหมดเร็วเช่นกัน

ในที่นี้จะใช้ตัวอย่าง (ตามรูปที่ 1 และ 2) ที่เคยใช้ในการทดลอง เป็นของเครื่องดำนาประเภทติดเครื่องยนต์คนเดินตามของบริษัท LG – Machinery รุ่น GP – 401 โดยจะใช้เป็นตัวอย่างเพื่อการอธิบายความสัมพันธ์ ระหว่างการปรับระยะห่างระหว่างกอกับการปรับใช้จำนวนต้นกล้าที่ปักดำในแต่ละกอที่จะมีผลต่อจำนวนแผ่นกล้าที่ใช้ในพื้นที่ 1 ไร่ เท่านั้นอย่างไรก็ตามเครื่องดำนาประเภทนั่งขับก็จะมีกลไกหรืออุปกรณ์ สำหรับปรับระยะห่างระหว่างกอและปรับใช้จำนวนต้นกล้าที่ใช้ในแต่ละกอเช่นกัน แต่
จะมีลักษณะที่แตกต่างกันตามการออกแบบของแต่ละบริษัท

(ตามรูปที่ 1 และ 2) ถ้าปรับห่างระหว่างกอ 14  เซนติเมตร และตั้งอุปกรณ์ควบคุมอัตราการ ป้อนกล้าไว้ที่ตำแหน่ง A จะใช้แผ่นกล้าต่อพื้นที่ 1 ไร่น้อยที่สุด ในทางตรงกันข้าม ถ้าปรับห่างระหว่างกอ 10 เซนติเมตร และตั้งอุปกรณ์ควบคุมอัตราการป้อนกล้าไว้ที่ตำแหน่ง G จะใช้แผ่นกล้าต่อพื้น 1 ไร่ มาก ที่สุด ส่วนตำแหน่ง H จะเป็นตำแหน่งหยุด ดังนั้นถ้าต้องการให้ส้อมจับต้นกล้าปักดำลงดินในแต่ละกอ จำนวน 3 – 5 ต้น ตามคำแนะนำทางวิชาการ ต้องปรับตั้งอุปกรณ์ควบคุมอัตราการป้อนกล้าไว้ที่ตำแหน่ง A ซึ่งจะใช้ต้นกล้าประมาณ 44 – 56 แผ่นต่อพื้นที่ 1 ไร่(แสดงในตารางต่อไป) แผ่นกล้าจำนวนดังกล่าว จะใช้แปลงเพาะขนาด 1.16 X  8.0 เมตร และใช้อัตราเมล็ดพันธุ์ข้าวที่ชั่งก่อนแช่น้ำในอัตรา 7 – 8 กิโลกรัม ต่อพื้นที่เตรียมกล้าสำหรับดำนา 1 ไร่ ก็เพียงพอ ทั้งนี้ขึ้นอยู่กับเมล็ดพันธุ์ข้าวจะมีขนาดใหญ่หรือ ขนาดเล็ก อย่างไรก็ตามถ้าต้องการให้ส้อมจับต้นกล้าปักดำลงดินในแต่ละกอจำนวนมากขึ้น จะต้องใช้แผ่น กล้าจำนวนมากขึ้นตามไปด้วย ดังนั้นถ้าแผ่นกล้าที่ได้จากแปลงเพาะขนาด 1.16 X 8.00 เมตรไม่เพียงพอ ต่อการใช้งาน ก็สามารถขยายแปลงเพาะกล้าไปตามความยาว เป็น 1.16 X 10 เมตร โดยเพิ่มอัตราเมล็ด พันธุ์ตามสัดส่วนที่เพิ่มขึ้นด้วย
คันบังคับปรับจำนวนต้นกล้าต่อกอในการปักดำควบคุมจำนวนต้นกล้าที่ปักดำในแต่ละกอ
รูปที่ 1 อุปกรณ์ปรับระยะห่างระหว่างกอในแถวเดียวกัน
ปุ่มปรับระยะห่างระหว่างกอต้นกล้าข้าวที่ปักดำลงแปลง
รูปที่ 2 อุปกรณ์ควบคุมอัตราการป้อนกล้า
ตารางความสัมพันธ์ระหว่างระยะห่างระหว่างกอกล้าในแถวเดียวกันกับตำแหน่งควบคุมอัตราการป้อนกล้า
ตาราง ความสัมพันธ์ระหว่างระยะห่างระหว่างกอกล้าในแถวเดียวกันกับตำแหน่งควบคุมอัตราการป้อนกล้า

วิธีการขับเคลื่อนเครื่องดำนาเพื่อปักดำต้นกล้าในแปลงนา

1. เลื่อนคันบังคับควบคุมระบบส่งกำลังการให้ อยู่ในตำแหน่งส่งกำลังเมื่อเครื่องดำนาเริ่มเคลื่อนที่  ให้เลื่อนคันบังคับควบคุมระบบส่งกำลังส้อมปักดำต้นกล้าให้อยู่ในตำแหน่ง ส่งกำลังทันที เครื่องดำนาจะเคลื่อนที่พร้อมกับปักดำต้นกล้าไปด้วย เมื่อเครื่องปักดำต้นกล้าไปจนเกือบถึงคันนาด้านตรงกันข้ามที่เรียกว่าหัวแปลงจนเหลือระยะห่างประมาณ 2 เมตร แล้วเลี้ยวกลับลำเครื่องดำนาให้กลับมาตั้งแนวตรงเพื่อดำนาในเที่ยวกลับต่อไป (ในกรณีย์ที่ยังขับเครื่องดำนาไม่ชำนาญ ควรหยุดการเคลื่อนที่เครื่องดำนาก่อนที่จะเลี้ยวกลับลำ โดยเลื่อนคันบังคับระบบส่งกำลังการขับเคลื่อนให้อยู่ในตำแหน่งหยุดส่งกำลัง)
2. เมื่อกลับลำเครื่องดำนามาอยู่ในแนวปักดำต้นกล้าในรอบต่อไปเรียบร้อยแล้วเลื่อนคันบังคับควบคุมระบบส่งกำลังการให้อยู่ในตำแหน่งส่งกำลัง เครื่องดำนาจะเคลื่อนที่ เมื่อเครื่องดำนาเริ่มเคลื่อนที่ให้เลื่อนคันบังคับควบคุมระบบส่งกำลังส้อมปักดำต้นกล้าให้อยู่ในตำแหน่งส่งกำลังทันทีเครื่องดำนาจะเคลื่อนที่พร้อมกับปักดำต้นกล้าไปด้วย

ทิศทางการการขับเครื่องดำนาในแปลงปักดำ

การขับเคลื่อนเครื่องดำนาปักดำต้นกล้าในแปลง ต้องมีการวางแผนให้เครื่องดำนาสามารถทำงาน
ได้อย่างต่อเนื่อง โดยปักดำในทิศทางตามความยาวเป็นหลัก เพื่อลดจำนวนครั้งในการกลับลำตรงหัวงาน ช่วยลดเวลาในการทำงานต่อพื้นที่ลง และทิศทางการปักดำเที่ยวสุดท้ายเสร็จแล้วจะต้องนำเครื่องดำนาออกจากแปลงนาโดยไม่ไปทับต้นข้าวที่ปักดำแล้ว แปลงนาของเกษตรกรจะไม่เป็นสี่เหลี่ยมทุกแปลง ดังนั้นในการวางแผนการทำงานจึงต้องคำนึงถึงรูปลักษณะของแปลง และความสะดวกในการขนย้ายแผ่นกล้าไปวางตามคันนาตามจุดกลับลำของเครื่องดำนาตรงหัวแปลงนาด้วย (รูปที่ 3)
วิธีการขับเครื่องดำนาทิศทางการการขับเครื่องดำนาในแปลงปักดำ
รูปที่ 3 ทิศทางการการขับเครื่องดำนาในแปลงปักดำ

การกลับลำเครื่องดำนาระหว่างปักดำ

(1) การกลับลำเพื่อปักดำต้นกล้ากลางแปลงนา จะต้องเว้นพื้นที่บริเวณหัวแปลงไว้ให้ห่างจากคันนาประมาณ 2 เมตร (รูปที่ 4) ทั้งสองด้าน เพื่อเป็นพื้นที่สำหรับกลับลำเครื่องดำนา และหลังจากปักดำต้นกล้าตามแนวยาวจนเต็มพื้นที่แล้ว จึงจะปักดำในพื้นที่หัวแปลงในทิศทางขวางกับแนวที่ปักดำนาไว้ก่อน
การกลับลำเพื่อปักดำต้นกล้ากลางแปลงนา การเว้นหัวแปลงสำหรับกลับลำเครื่องดำนา
รูปที่ 4 การเว้นหัวแปลงสำหรับกลับลำเครื่องดำนา
(2) การกลับลำเครื่องดำนาเพื่อปักดำต้นกล้าพื้นที่มุมแปลง เมื่อกลับลำเครื่องดำนาแล้ว ให้ใช้เกียร์ถอยหลังช่วยขณะที่เข้าตรงมุมแปลง เพื่อปักดำต้นกล้าในพื้นที่มุมแปลง (รูปที่ 5)
การกลับลำเครื่องดำนาเพื่อปักดำต้นกล้าพื้นที่มุมแปลงใช้เกียร์ถอยหลังช่วยขณะที่เข้าตรงมุมแปลง
รูปที่ 5 ใช้เกียร์ถอยหลังช่วยขณะที่เข้าตรงมุมแปลง

การกำหนดแถวปักดำต้นกล้า

การใช้เครื่องดำนาปักดำต้นข้าวถ้ายังไม่มีความชำนาญควรใช้อุปกรณ์ที่ใช้ในการเล็งแนวช่วยกำหนดแถวปักดำ  เพื่อเว้นระยะห่างของแถวปักดำในแต่ละเที่ยวได้อย่างเหมาะสมและเป็นแนวตรง อุปกรณ์ที่ใช้ในการเล็งแนวมี 2 อย่าง คือ หลักเล็งแนวด้านหน้า แขนเล็งแนวด้านหน้า โดยจะใช้อย่างหนึ่งอย่างใดก็ได้ การใช้หลักเล็งแนวด้านหน้าจะต้องใช้ประกอบกับแขนขีดเส้นเพื่อทำแนวบนผิวดินที่ติด
อยู่ด้านข้างของเครื่องดำนาตรงถาดป้อนกล้า โดยยกขึ้นพับเก็บได้ และปล่อยวางลงขนานกับพื้นดินเมื่อต้องการใช้งาน 
1. วิธีใช้หลักเล็งแนวด้านหน้า เมื่อขับเครื่องดำนาปักดำต้นกล้าเที่ยวแรกต้องใช้แขนขีดเส้นด้านข้างขีดเส้นลงไปบนผิวดินให้เป็นแนวยาวตลอดแปลงตามที่เครื่องดำนาเคลื่อนที่ไปเป็นการขีดเส้นล่วงหน้าและเมื่อเลี้ยวเครื่องดำนากลับลำเพื่อปักดำในเที่ยวต่อไป ผู้ขับเครื่องดำนาจะมองเห็นเส้นบนผิวดินและอาศัยหลักเล็งแนวที่อยู่ด้านหน้าบนฝาครอบเครื่องควบคุมเครื่องดำนาให้หลักเล็งแนวตรงกับเส้นที่ขีดไว้ตลอดทาง จะปักดำต้นกล้าได้ระยะระหว่างแถวต้องการ และทำอย่างเดียวกันในการดำนาในแถวต่อไป (รูปที่ 6)
วิธีเแสดงวิธีใช้หลักเล็งแนวด้านหน้า แขนชิดเส้นด้านข้าง หลักเล็งแนว
รูปที่ 6 แสดงวิธีใช้หลักเล็งแนวด้านหน้า
2. วิธีใช้แขนเล็งแนวด้านหน้า จะปฏิบัติเหมือนการใช้หลักเล็งแนวด้านหน้า โดยให้แขนเล็งแนวด้านหน้า ที่ติดอยู่ด้านหน้าของสกีข้างทั้งด้านซ้ายและขวา เวลาใช้งานจะเลื่อนแขนออกและหุบเข้าเก็บเมื่อไม่ต้องการใช้  การใช้แขนเล็งแนวจะต้องขับเครื่องดำนาให้ปลายหลักเล็งแนววิ่งขนานกับต้นกล้าแถวสุดท้ายที่ปักดำไว้แล้วตลอดทั้งแถวปักดำ (รูปที่ 7)
แสดงวิธีใช้แขนเล็งแนวด้านหน้าโดยให้แขนเล็งแนวด้านหน้า ที่ติดอยู่ด้านหน้าของสกีข้างทั้งด้านซ้ายและขวา
รูปที่ 7 แสดงวิธีใช้แขนเล็งแนวด้านหน้า

วิธีการใช้เครื่องดำนาในระดับเกษตรกร

ผู้ใช้เครื่องดำนา เกษตรกรที่ใช้เครื่องดำนาควรมีทักษะที่สามารถใช้ เครื่องดำนาได้อย่างมีประสิทธิภาพ (รูปที่ 8) ถ้าเกษตรกรสามารถซื้อเครื่องดำนามาใช้เองได้จะดีที่สุด เพราะเจ้าของเครื่องจะเป็นผู้ดูแลรักษาเครื่องดำนาด้วยตนเองจะทำให้เกิดการเสียหายน้อย แต่เครื่องดำนามีราคาสูงจึงมักจะใช้ในระบบรับจ้างหรือใช้ร่วมกันเป็นกลุ่ม ส่วนการใช้เครื่องดำนาเป็นกลุ่มหรือนำไปรับจ้างต้องมอบหมายให้มีคนขับประจำ 2 - 3 คน และต้องเป็นผู้รับผิดชอบในการดูแลรักษาเครื่องดำนาด้วย จะช่วยให้อุปกรณ์และชิ้นส่วนของเครื่องดำนาเสียหายน้อย ตามสภาพอายุการใช้งานของชิ้นส่วนของเครื่องดำนาเท่านั้นเพราะผู้ใช้เครื่องจะรับผิดชอบจะดูแลรักษาเครื่องดำนาตามคำแนะนำอย่างดี และรู้ได้ทันทีเมื่อมีชิ้นส่วนอุปกรณ์ของเครื่องขัดข้องหรือเสียหาย อย่าใช้เครื่องดำนาในระบบส่งเครื่องต่อกันหรือผลัดกันใช้เครื่องในแปลงนาของแต่ละคนเด็ดขาด เพราะจะไม่มีเจ้าภาพหรือผู้รับผิดชอบในการดูแลรักษาเครื่องดำนา ทำให้เกิดชำรุดเสียหายได้ง่าย และจะเสียหายมากขึ้นเพราะการส่งเครื่องต่อกันทำให้ไม่มีผู้รับผิดชอบ การจ้างคนนอกกลุ่มมาขับเครื่องดำนาก็ไม่ดีเช่นกัน เพราะจะเสียหายง่าย เพราะผู้ใช้จะไม่ดูแลรักษาเครื่องการใช้เครื่องดำนาร่วมกันเป็นกลุ่ม เกษตรกรทุกรายต้องมีวินัยในการจัดเตรียมกล้าและแปลงนาที่จะใช้เครื่องเพื่อให้ใช้เครื่องดำนาได้ต่อเนื่องกันตามแผนที่วางไว้ ถึงแม้ว่าเครื่องดำนาจะใช้งานง่ายเพศหญิงก็สามารถขับเครื่องดำนาได้แต่ผู้ ขับเครื่องดำนาหรือเจ้าของเครื่องต้องมีทักษะทางช่างเบื้องต้น เพราะเครื่องดำนาเป็นเครื่องจักรกลที่มีโครงสร้างและอุปกรณ์ซึ่งเป็นเทคโนโลยีอีกระดับหนึ่งซึ่งแตกต่างจากรถไถเดินตาม ที่เป็นเครื่องจักรกลพื้นฐาน จากการดำเนินการพบว่า กลุ่มเกษตรกรผู้ที่เคยใช้เครื่องจักรกลเกษตร เช่น รถแทรกเตอร์ เครื่องนวดข้าว จะรับเทคโนโลยีการใช้เครื่องดำนาจนสามารถใช้เครื่องดำนาได้อย่างมีประสิทธิภาพเร็วกว่าเกษตรกรทั่วไปสามารถปรับแต่งอุปกรณ์หรือแก้ไขข้อขัดข้องในระหว่างการใช้งานในแปลงได้รู้จักแก้ไขปัญหาเฉพาะหน้าระหว่างการทำงานได้ และยังเข้าใจวิธีการดูแลรักษาเครื่องดำนาตามกำหนดด้วย
เกษตรกรที่มีทักษะสามารถใช้เครื่องดำนาได้อย่างมีประสิทธิภาพ
รูปที่ 8 เกษตรกรที่มีทักษะสามารถใช้เครื่องดำนาได้อย่างมีประสิทธิภาพ
    หน้า   1   2   3   4   5   
CONTACT
169/47 ถ.พุทธมณฑลสาย 4 ต.กระทุ่มล้ม  อ.สามพราน จ.นครปฐม 73220
086-070-0007
ananindustry@gmail.com
https://www.ananindustry.com
WORKING DAYS/HOURS
วันจันทร์ - วันเสาร์
8.00 - 17.00 น.
Copyright © 2008 Anan Industry Company Limited. All Rights Reserved